พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการกู้ยืมเงิน: หลักฐานการกู้ยืมจากบัตรกดเงินสดและผลผูกพันทางกฎหมาย
การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธนาคารมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดความเสียหายจากการถูกหลอกลวง ธนาคารต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายบางส่วน
จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวกับการเงิน รับฝากเงิน และให้บริการการใช้หรือโอนเงินทาง xxx application online ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ จึงเป็นผู้รับฝากซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะ จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ปรากฏว่า ระหว่างเวลา 23.41 นาฬิกา ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ถึงเวลา 2.01 นาฬิกา ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากของผู้อื่นจำนวน 3 บัญชี รวม 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท การโอนเงินที่เป็นการโอนจำนวนย่อยหลายครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาเดียวกันในเวลากลางคืน จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่นโดยเป็นบัญชีเดียวกันหรือชื่อบัญชีเดียวกัน ย่อมเป็นพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะต้องทราบถึงวิธีการดังกล่าวและย่อมสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจเป็นการกระทำของมิจฉาชีพผู้ประกอบอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการกระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวด้วย การที่จำเลยแจ้งเตือนให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการต่าง ๆ ระมัดระวังอีเมลหลอกลวงจากมิจฉาชีพหรือที่เรียกว่า Phishing Email มาตลอด โดยมีข้อความแจ้งเตือนว่า "แจ้งเตือน กรุณาอย่าหลงเชื่ออีเมลปลอมจากมิจฉาชีพ xxx ไม่มีนโยบายในการส่งอีเมลใด ๆ เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูล ชื่อผู้ใช้งาน Password หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ โดยเด็ดขาด" และ "แจ้งเตือนโปรดระวังอีเมลแอบอ้าง (Phishing Email) ว่าเป็นอีเมลจากธนาคารหลอกลวงให้คลิกเพื่อไปยังเว็บไซต์ปลอมเพื่อความปลอดภัยกรุณาพิมพ์ www.xxx.com" ตามเว็บไซต์ของจำเลยในการเข้าระบบ ลูกค้าต้องใช้ชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ลูกค้าสมัครไว้กับธนาคารเข้าสู่ระบบและต้องใส่รหัสโอทีพี (OTP หรือ One Time Password) ที่ระบบธนาคารส่งให้ที่หมายเลขโทรศัพท์ของลูกค้าเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมอีกขั้นตอนหนึ่งจึงจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับบัญชีของตนได้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายแก่การทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ใช้บริการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้เพื่อนำไปใช้กระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบซึ่งเป็นข้อควรระวังในด้านของลูกค้า แต่มาตรฐานของจำเลยในการป้องกันการโอนเงินที่เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบดังกล่าวควรจะมีอยู่อย่างไร จำเลยควรจะป้องกันหรือระงับยับยั้งการโอนเงินที่มีความผิดปกติดังกล่าวเมื่อมีการโอนเงินผ่านไปแล้วกี่ครั้ง และเหตุใดพนักงานของจำเลยเพิ่งจะโทรศัพท์แจ้งเตือนไปยังโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินดังกล่าวครั้งที่ 12 และโอนเงินไปรวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท แล้ว ซึ่งมาตรการในการป้องกันความเสียหายที่เหมาะสมหรือสมควรดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ในส่วนนี้ แต่จำเลยกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันหากเกิดการโอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบในส่วนนี้เลยและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีมาตรการในการป้องกันความเสียหายในส่วนนี้อย่างเพียงพอ แม้ในการโอนเงินจำเลยได้มีข้อความแจ้งเตือนไปยังโจทก์ทุกครั้งที่ทำการโอนเงินรวม 12 ครั้ง และพนักงานของจำเลยได้โทรศัพท์ไปหาโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินครั้งที่ 12 แล้ว มาตรการดังกล่าวถือว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันการโอนเงินหรือการทำรายการหรือธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบ นอกจากนี้ได้ความว่าโจทก์มิใช่รายแรกที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้และมีอีกหลายรายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบถึงพฤติกรรมการหลอกลวงและวิธีการโอนเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวเช่นเดียวกับคดีนี้มาก่อนทั้งเหตุเกิดซ้ำ ๆ กับลูกค้าจำนวนมาก จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะและในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมระบบมีความสามารถในการตรวจสอบหรือทราบถึงความผิดปกติในการทำรายการต่าง ๆ ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังและหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายดังเช่นที่เกิดในคดีนี้อีก หาใช่ว่าหากมีการกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่สามารถยืนยันตัวตนได้แล้วบุคคลดังกล่าวจะสามารถดำเนินการธุรกรรมอย่างใดก็ได้โดยจำเลยไม่มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มีการโอนเงินที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการ ค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ได้รับอีเมลที่ไม่ได้มาจากจำเลยและมีข้อความเชื่อมโยงหรือลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่เลียนแบบเว็บไซต์ธนาคารจำเลย และโจทก์กรอกชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ในเว็บไซต์ดังกล่าว ทำให้มีคนร้ายทราบถึงชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ของโจทก์ และนำไปใช้สมัคร xxx App ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโจทก์ยังได้กรอกหมายเลขโอทีพี (OTP หรือ One Time password) ในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถสมัครใช้บริการ xxx App ได้สำเร็จและเกิดการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีอื่น โจทก์เป็นผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก่อนเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งตามใบแจ้งรายการบัญชีออมทรัพย์โจทก์ก็ได้ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง โจทก์ย่อมมีความเข้าใจในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดังกล่าวและย่อมทราบถึงคำเตือนของจำเลยตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของจำเลย โจทก์จึงควรมีความระมัดระวังในการตรวจสอบก่อนทำธุรกรรมดังกล่าวมากกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายด้วย พฤติกรรมของโจทก์และจำเลยจึงถือว่ามีส่วนทำให้เกิดความเสียหายในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 550,000 บาท เมื่อค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเป็นหนี้เงินหากชำระล่าช้าย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งค่าเสียหายของหนี้เงินตามปกติย่อมคิดกันในรูปของดอกเบี้ย จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โดยควรให้ในอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 5 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิด พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์: การประกอบธุรกิจโดยไม่แจ้ง/ขึ้นทะเบียน และการลงโทษที่เกินควร
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 33 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ หรือต้องขึ้นทะเบียน ให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องแจ้งหรือขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาก่อนเริ่มประกอบธุรกิจนั้น และตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 มาตรา 7 บัญญัติว่า ธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใดที่ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ทราบ ขึ้นทะเบียน หรือได้รับใบอนุญาต ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งตามบัญชีท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ประเภท บัญชี ข (4) การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซื้อสินค้าเป็นธุรกิจบริการที่ต้องขอขึ้นทะเบียนก่อนให้บริการ กฎหมายจึงอนุญาตให้ประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนประกอบการเท่านั้น ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจรับฝากชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซื้อสินค้าจึงเป็นธุรกิจที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกันประกอบธุรกิจรับฝากชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อนได้รับอนุญาต กระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่จึงอยู่ที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อนดำเนินธุรกิจมาแต่ต้นเท่านั้น จึงเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว
แม้ตาม พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฎษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2561 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 แต่ตามมาตรา 4 ได้กำหนดให้บรรดาการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจ บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายที่จะดำเนินการเกี่ยวกับความผิดนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ เมื่อจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดคดีนี้ก่อน พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2561 มีผลบังคับ จึงสามารถดำเนินคดีจำเลยทั้งสี่ต่อไปจนแล้วเสร็จได้ และเมื่อกฎหมายกำหนดขั้นตอนดำเนินคดีต่อไปไว้ชัดแจ้ง จึงมิใช่กรณีกฎหมายที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไปหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ ตาม ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 3 จึงสามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปจนเสร็จได้
แม้ตาม พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฎษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2561 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 แต่ตามมาตรา 4 ได้กำหนดให้บรรดาการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจ บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายที่จะดำเนินการเกี่ยวกับความผิดนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ เมื่อจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดคดีนี้ก่อน พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2561 มีผลบังคับ จึงสามารถดำเนินคดีจำเลยทั้งสี่ต่อไปจนแล้วเสร็จได้ และเมื่อกฎหมายกำหนดขั้นตอนดำเนินคดีต่อไปไว้ชัดแจ้ง จึงมิใช่กรณีกฎหมายที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไปหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ ตาม ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 3 จึงสามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปจนเสร็จได้