คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ธุรกิจส่วนตัว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละทิ้งหน้าที่งานเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวถือเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์ยื่นใบลาขออนุญาตหยุดงานเป็นเวลา 4 วัน ติดต่อกัน แต่เมื่อจำเลยไม่อนุญาต โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องมาทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานปกติตามที่จำเลยมอบหมาย เมื่อโจทก์ไม่มาทำงานแต่กลับเดินทางไปประเทศกัมพูชาเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจซึ่งเป็นเหตุส่วนตัวของโจทก์ จึงถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ลาป่วยเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว และการขัดคำสั่งนายจ้างชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยขอหยุดงานรวม 90 วันนั้น เหตุแห่งการลาป่วยเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะที่โจทก์ยื่นใบลา จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงอนุญาตให้โจทก์หยุดงานไปตามนั้น แต่ต่อมาเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถทำงานตามปกติ และโจทก์หยุดงานไปเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวอันเป็นการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเสร็จ ส่วนเหตุเลิกจ้างซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือสั่งให้โจทก์ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและอยู่ในระหว่างลาหยุดงานเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับข้อเท็จจริงในเหตุเลิกจ้างที่จำเลยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเท็จ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยเหตุของการเลิกจ้างทั้งสองประการดังกล่าวนี้ จึงมิได้ขัดแย้งกัน หลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและหยุดงานแล้ว ปรากฏว่า โจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รายงานตัวกลับเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่นั้นการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งดังกล่าวให้โจทก์ทราบและถือปฏิบัติแสดงว่าเหตุแห่งการลาป่วยที่จำเลยอนุญาตนั้นได้สิ้นไปแล้วและเป็นการยกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาหยุดงานไปในตัวจำเลยหาจำต้องระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่ายกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยไม่ เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน โจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทั้ง ๆ ที่จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหลายครั้ง เป็นการที่จำเลยจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2299/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การประกอบธุรกิจส่วนตัวในเวลางาน และการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน
ข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า พนักงานต้องอุทิศเวลาให้แก่บริษัทฯ ไม่มาสายหรือกลับก่อนเวลาทำงาน หรือหลับในเวลาปฏิบัติงานหรือปฏิบัติงานล่าช้าโดยเจตนาหรือหลีกเลี่ยงการทำงาน ฯลฯ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานประกอบธุรกิจส่วนตัวย่อมถือว่าปฏิบัติงานล่าช้าโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงการงานอยู่ในตัวแล้ว โจทก์จึงได้ชื่อว่าไม่อุทิศเวลาให้แก่นายจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าการประกอบธุรกิจส่วนตัวของโจทก์เกิดขึ้น ก่อนหรือหลังจากที่จำเลยเพิ่มค่าจ้างให้โจทก์แล้ว จึงไม่อาจถือเอาการเพิ่มค่าจ้างเป็นข้อยกเว้นว่าการประกอบธุรกิจส่วนตัวในเวลาทำงานไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน เพราะการจะพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการเลิกจ้างนั้นมีสาเหตุอันควรหรือไม่ หากนายจ้างเลิกจ้างโดยปราศจากสาเหตุหรือเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง การเลิกจ้างนั้นจึงจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ใช้เวลาทำงานประกอบธุรกิจส่วนตัวภายในสำนักงาน เป็นเหตุให้พนักงานอื่นต้องหยุดการทำงานเพื่อเลือกสรรเครื่องประดับที่โจทก์นำมาเสนอขายการกระทำของโจทก์ถือได้ว่ากระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)
การที่โจทก์แนะนำคนรู้จักหรือญาติพี่น้องเข้าสมัครทำงานกับจำเลยแล้วคัดเลือกใบสมัครเฉพาะพรรคพวกของโจทก์ส่งไป ทั้งที่มีผู้สมัครหลายราย แต่โจทก์แจ้งว่ามีผู้สมัครเฉพาะเท่าที่โจทก์ส่งไป เป็นการตัดโอกาสที่จำเลยจะคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมได้ แม้โจทก์จะได้รับความยำเกรงจากผู้ที่ได้รับคัดเลือกและเป็นการสร้างสมบารมีก็ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ในเชิงทรัพย์สินการกระทำของโจทก์หาเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ไม่