คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ธุรกิจหลัก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10659-10665/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องมีเหตุผลอันสมควร และรางวัลพิเศษขึ้นอยู่กับผลกำไรจากธุรกิจหลัก
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ หรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้าง สาเหตุการเลิกจ้างอาจเกิดจากฝ่ายลูกจ้างฝ่ายเดียว เมื่อสาเหตุและความจำเป็นที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มาจากการประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับคุ้มทุน มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ให้สิทธิจำเลยในการที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ ทั้งเหตุที่ต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานและโอนงานไปรวมกับหน่วยงานอื่นก็เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการและสัญญาผู้ประกอบการจำหน่ายที่จำเลยทำกับเจ้าหนี้ ดังนั้น การที่จำเลยใช้สิทธิตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเลิกจ้างโจทก์พร้อมกับพนักงานในหน่วยงานที่ถูกปรับยุบทั้งหมด เพราะมีสาเหตุมาจากการประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมิได้เลือกปฏิบัติกลั่นแกล้งเฉพาะโจทก์เท่านั้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนกรณีที่จำเลยประกาศรับสมัครผู้จัดการในหน่วยงานอื่นของจำเลยซึ่งโจทก์ทั้งสองมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสมัครเข้าไปทำงานได้นั้น จำเลยก็ได้ดำเนินการหลังจากเลิกจ้างโจทก์เป็นเวลานาน เนื่องจากความจำเป็นทางด้านการบริหารจัดการที่เพิ่งเกิดมีขึ้นใหม่ในภายหลังตามความประสงค์ของบริษัท ว. ซึ่งจำเลยมีความผูกพันตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติ เหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน
จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่และให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์ รายได้ที่จะมีผลต่อกำไรหรือขาดทุนในการประกอบธุรกิจของจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในส่วนธุรกิจรถยนต์ การที่จำเลยประกาศจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มให้แก่พนักงาน จึงมุ่งหมายถึงผลประกอบการในการดำเนินธุรกิจรถยนต์โดยตรง ซึ่งได้แก่ การขายรถยนต์ใหม่ การขายรถยนต์เก่าการขายอะไหล่ การให้บริการซ่อมบำรุง และการให้เช่ารถยนต์ ส่วนการขายสินทรัพย์ หนี้สูญได้รับคืน รายได้อื่นๆ และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของจำเลย มิใช่การประกอบกิจการอันเป็นธุรกิจรถยนต์ของจำเลยดังกล่าว จึงไม่อาจถือเป็นรายได้ที่จะนำมาคำนวณเป็นผลกำไรในส่วนธุรกิจรถยนต์ เมื่อการดำเนินงานในส่วนธุรกิจรถยนต์ไม่มีผลกำไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษจากจำเลย