คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ธ.แห่งประเทศไทย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4462/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ ธ.แห่งประเทศไทย และการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย
++ เรื่อง ยืม บัญชีเดินสะพัด จำนอง ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
++ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4และในวันเดียวกันจำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30146 ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นประกันในวงเงิน5,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6 จำเลยตกลงให้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-06240-3 เป็นบัญชีเดินสะพัด ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปีตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 22653 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เป็นประกันตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์
++ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่า โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินอีก 2 ฉบับ โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบหรือไม่ซึ่งจะได้วินิจฉัยพร้อมกันไป
++
++ ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายจ.4 ข้อ 3 สัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2533 เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3 และสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2536เอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 มีข้อความอย่างเดียวกันว่า หากตามประเพณีการค้าซึ่งธนาคารปฏิบัติกันโดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้ก็ดี หรือหากมีกฎหมายหรือประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ก็ดี ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญานี้ได้ตามสมควรตามดุลพินิจของผู้ให้กู้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้ก่อน แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว ผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบในเวลาอันสมควร โจทก์นำสืบว่าได้ปิดประกาศอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.18 และตามประกาศของธนาคารโจทก์ไว้ที่ธนาคารของโจทก์ทุกสาขา และทำสำเนาบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.11 ส่งให้แก่จำเลยทุกสิ้นเดือน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าได้นำเงินไปผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วยตนเองเกือบทุกเดือนไม่ทราบว่าโจทก์ได้ปิดประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทราบหรือไม่เพราะไม่ได้สังเกต เมื่อได้รับสำเนาบัญชีกระแสรายวันแล้วจำเลยไม่เคยโต้แย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ปิดประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
++ จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ปิดประกาศไว้ที่ธนาคารโจทก์ทุกสาขาเพื่อให้ลูกค้าทราบแล้วจริง เมื่อตามข้อสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.7 ข้อ 3 ไม่ได้กำหนดวิธีการแจ้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ทราบว่าจะต้องกระทำโดยวิธีใดการที่โจทก์ปิดประกาศไว้ดังกล่าวถือได้ว่าได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ++
++ ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า หลังจากเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราเท่าใด
++ จำเลยฎีกาว่า นับถัดจากวันเลิกสัญญาแล้ว โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ 18 ต่อปี นั้น
++ เห็นว่าโจทก์มีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยระหว่างเดินสะพัดทางบัญชีกันอยู่นั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.18 หลังเลิกสัญญาแล้วโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนั้นได้ต่อไป มิใช่ต้องคิดในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีมิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นว่าการปฏิบัติผิดสัญญาทำให้จำเลยได้ประโยชน์ ++
++ ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดแล้วได้หรือไม่
++ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวกำหนดข้อตกลงกันไว้ในข้อ 4 ว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งชำระตามอัตราและข้อกำหนดแห่งระยะเวลาที่กล่าวในข้อ 2 ผู้กู้ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ เมื่อตามสัญญาในข้อ 3 ตกลงกันให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์จึงปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้แม้หลังวันที่จำเลยผิดนัดแล้ว กรณีเป็นการปรับเปลี่ยนตามข้อตกลงในสัญญามิใช่เพราะเหตุจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ++
++ ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่
++ นางชุตินันท์ ยุววิทยาพาณิชนิติกรของโจทก์เบิกความว่า ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม2537 โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามที่จำเลยให้ไว้ในสัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 การบอกกล่าวทวงถามบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นหน้าที่ของนิติกร ซึ่งตามระเบียบของธนาคารได้มอบอำนาจให้อยู่แล้ว การใดที่นิติกรได้กระทำไปถือว่าธนาคารโจทก์ให้สัตยาบัน จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์มิได้นำสืบหรือส่งระเบียบของธนาคารหรือมีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือ เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 และ 798นั้น
++ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งระเบียบหรือหนังสือมอบอำนาจ จึงยังไม่พอฟังว่าได้มีการมอบอำนาจให้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยทำเป็นหนังสือก็ตาม แต่นางชุตินันท์เป็นนิติกรของโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ เมื่อจำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของนางชุตินันท์ เป็นการให้สัตยาบันในการกระทำของนางชุตินันท์ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823การบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยจึงชอบแล้ว ++
++ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาทแทนโจทก์. ++