คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นวนิยาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย การอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์/ละคร และการละเมิดลิขสิทธิ์/ชื่อเสียง
หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.กับเรื่อง ก. ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ขายซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงขายนวนิยาย ทั้งสองเรื่องดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ซื้อตกลง ซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ ผู้ขายตกลงสัญญาแก่ผู้ซื้อว่าผู้ขายขอมอบสิทธิและลิขสิทธิ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดในนวนิยาย ทั้งสองเรื่องทุก ๆ ตอนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบเรื่องโดยสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้เดียว และผู้ขายจะต้องเขียนนวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นให้จบสมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อในการสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ต่อการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะนำนวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ได้ แม้หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ นวนิยาย เรื่อง พ. เป็นการเฉพาะคราวไว้โดยชัดแจ้งก็ตามแต่โดยที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อเสียก่อน" เมื่อนำข้อความดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสัญญาที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัทช.เป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนแล้ว ดังนี้ย่อมทำให้ตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ต่อกันในลักษณะโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปไม่ ทั้งสองฝ่ายคงเพียงแต่ต้องการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ทั้งสองเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะคราวให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการสร้างภาพยนตร์ซ้ำเกินกว่า 1 ครั้ง เท่านั้นซึ่งสอดคล้องกับในทางปฏิบัติของวงการพิมพ์และวงการภาพยนตร์การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการขอใช้สิทธิเพื่อการจัดพิมพ์บทประพันธ์จำหน่ายหรือนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นการขอใช้สิทธิหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวเท่านั้น กรณีจึงฟังได้ว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว หาได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่อง พ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้ว สิทธิของโจทก์ ที่ 1 ในการที่จะนำนวนิยายเรื่องพ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซ้ำอีกจึงเป็นอันระงับ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยาย เรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีกต่อไปส่วนจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นละคร โทรทัศน์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงได้ โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์แต่การที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ฉบับพิพาทมีข้อความชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องพ. แล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์ในนวนิยายดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร เพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร ออกเผยแพร่ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรจากโจทก์ทั้งสองได้ ข้อความในบทความตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นเพียงบทความที่วิจารณ์ว่าระหว่างโจทก์ กับจำเลยใครควรจะมีสิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ. ดีกว่ากัน เป็นการที่โจทก์ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวโดยโจทก์ประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์เชื่อว่าโจทก์ได้สิทธิในบทประพันธ์นวนิยาย เรื่องที่พิพาทโดยชอบแล้ว ดังนี้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย