คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นักศึกษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4626/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรอการลงโทษจำคุกในคดียาเสพติด และการกำหนดโทษปรับเพื่อใช้บังคับคุมประพฤติ
ความผิดของจำเลยในคดีนี้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท และตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยก็มีอำนาจกำหนดโทษปรับ เพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะโทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นโทษที่เบากว่าโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7718/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความระเบียบมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ และสิทธิของนักศึกษา
ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522ข้อ 4 วรรค 2 ระบุว่า "ในการประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ให้นักศึกษามาชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ด้วย" นั้น มีความหมายว่า ในวันที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้ใด นักศึกษาผู้นั้นจะต้องมาเพื่อชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ในกรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ มีข้อที่จะสอบถามเท่านั้น แต่หากไม่มีข้อจะสอบถาม นักศึกษาผู้นั้นไม่จำเป็นต้องชี้แจง กรณีตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่ข้อบังคับว่า คณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ จะต้องให้นักศึกษาชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ เสมอไป
การจะนัดคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์จะต้องพิจารณาวันและเวลาที่คณะกรรมการดังกล่าวแต่ละคนจะมีวันว่างพอที่จะมาร่วมประชุมด้วย และการไม่มาประชุมของจำเลยที่ 5 เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นที่จำเลยที่ 1มิได้แต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นประธานกรรมการกลั่นกรอง ฯ แทนจำเลยที่ 5 กรณีอาจเป็นเรื่องกะทันหันไม่ทราบว่าจำเลยที่ 5 จะมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมาได้ และตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะส่อแสดงได้ว่าจำเลยทั้งเก้ามีเจตนาจะกลั่นแกล้งโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการใช้สิทธิซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์นอกจากจะเป็นคำขอที่ให้โจทก์ได้รับสิทธิพิเศษผิดไปจากนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโททั่วไปแล้ว ยังเป็นคำขอที่อยู่นอกเหนือข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท พ.ศ. 2520 ข้อ 6และนอกเหนือระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522ข้อ 4 อีกด้วย จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยอายุ 18 ปี นักศึกษา ทำร้ายร่างกาย ศาลพิจารณาเหตุบรรเทาโทษและรอการลงโทษ
ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ และยังเป็นนักศึกษาไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน จึงมีเหตุอันควรปราณีรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว เป็นพลเมืองดี ต่อไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สลากกินแบ่งปลอมเพื่อหวังผลประโยชน์ แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อย ศาลพิจารณาโทษโดยคำนึงถึงอายุและสถานะนักศึกษา
จำเลยนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการแก้ไขหมายเลขหลักร้อยจากหมายเลข "8" เป็นหมายเลข "0" มาขอรับรางวัลจากผู้เสียหายโดย สลากกินแบ่งดังกล่าวมีร่องรอยการแก้ไขสามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า เป็นการกระทำความผิดฐาน ใช้ เอกสารสิทธิปลอม แต่ เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงเพื่อต้องการจะได้ เงินรางวัลเลขท้ายซึ่ง เป็นเงินจำนวนเล็กน้อย มิได้เป็นเรื่องร้ายแรงนัก ทั้ง จำเลยกระทำผิดในขณะที่อายุเพียง 22 ปี เป็นครั้งแรกและขณะ ยังเป็นนักศึกษาอยู่สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว ประพฤติตน เป็นพลเมืองดี ต่อไป โดย ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงนักศึกษาขายข้อสอบปลอมและการสวมครุยวิทยฐานะโดยมิชอบ
จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น
จำเลยกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงคณะนิติศาสตร์ยังไม่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะสวมครุยวิทยฐานะเพื่อแสดงให้ผู้พบเห็นเชื่อว่าจำเลยสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว การที่จำเลยสวมเสื้อครุยปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงถ่ายภาพแล้วนำภาพถ่ายดังกล่าวมาตั้งไว้บนโต๊ะที่จำเลยขายข้อสอบ จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 มาตรา 48.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจลงโทษนักศึกษาและการพิสูจน์ความผิดวินัย จำเป็นต้องมีการสืบพยานเพื่อหาข้อเท็จจริง
ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ.2521 มาตรา 21(8)จำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดีมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยวินัยและการปกครองนักศึกษา พ.ศ.2521 ข้อ 22 กำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับ ดังนั้น ในกรณีที่นักศึกษากระทำผิดวินัยอธิการบดีย่อมมีอำนาจที่จะสั่งลงโทษได้ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันทำละเมิดมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นฐานกระทำผิดวินัย โดยโจทก์มิได้กระทำผิดวินัยไม่ได้ทุจริตหรือปกปิดเกี่ยวกับเงินส่วนลดของค่าเช่ารถไปแข่งขันกีฬาจำเลยทั้งสองบิดเบือนความจริง กลั่นแกล้งโจทก์ เพราะสาเหตุเนื่องจากโจทก์เป็นนายกสโมสรนักศึกษาและเป็นผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติงานอันไม่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดี จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธดังนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยหรือไม่ยังไม่ยุติชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนสิ้นกระแสความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2455/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นักศึกษาครอบครองเฮโรอีน ศาลรอการลงโทษจำคุก
ศาลจำคุกจำเลย 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานมีเฮโรอีนตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 20 ตรี ต้องโทษจำคุกมาแล้ว7 เดือน จำเลยเป็นนักศึกษา ศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16694/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาผูกพันการทำงานหลังจบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม: สิทธิของนักศึกษา vs. ข้อสัญญาสำเร็จรูป
เมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์โดยชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่ละภาคการศึกษาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยโจทก์เพิ่งแจ้งให้ทราบภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาแล้วถึง 3 ปี ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยโจทก์ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักศึกษาตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบโดยจำยอมต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นผลต่อการสำเร็จการศึกษา ทั้งสัญญาผูกพันการเข้าปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นสัญญาสำเร็จรูป โดยมีการพิมพ์ข้อความกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า และข้อความในสัญญาผูกพันการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยโจทก์ โดยไปปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์จัดการ หรือกำหนดให้ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยหรือในโรงพยาบาลอื่นเป็นเวลา 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญายินยอมชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน โดยต้องปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์เป็นผู้กำหนดหรือจัดหาให้เท่านั้น ซึ่งแม้มีกำหนดเวลาเพียง 3 ปี และมีค่าตอบแทนให้ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเลือกได้เอง จึงถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ซึ่งตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 บัญญัติให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรุนแรงจากกลุ่มนักศึกษา การทำร้ายร่างกายและฆ่าผู้อื่น ศาลยืนโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ
ก่อนเกิดเหตุนักศึกษาของโรงเรียนที่ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามกับนักศึกษาของโรงเรียนที่จำเลยกับพวกเรียนอยู่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง อีกทั้งจำเลยพกมีดติดตัวอยู่ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยที่สุจริตชนทั่วไปพึงปฏิบัติ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกทุกคนอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะทำการทะเลาะวิวาทกับคู่อริจำเลยก็ย่อมต้องรู้อยู่แก่ใจว่าพวกของจำเลยคนอื่น ๆ ก็จะต้องมีอาวุธร้ายแรงอย่างเช่นอาวุธปืนติดตัวมาด้วยเช่นกัน จำเลยเป็นคนที่เริ่มต้นก่อการวิวาทขึ้น โดยพูดจาท้าทายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสาม แล้วจำเลยกับพวกพากันขึ้นไปทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามบนรถโดยสารทั้งทางประตูหน้าและประตูหลังท้ายรถ เมื่อจำเลยใช้มีดซึ่งมีความยาวทั้งคมมีดและด้ามประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายที่ 2 ที่เท้าซ้าย 1 ครั้ง และใต้เท้าซ้ายอีก 1 ครั้ง จากนั้นพวกของจำเลยยิงอาวุธปืนกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณสะโพกขวา แต่จำเลยก็ยังไม่หยุดทำร้ายผู้อื่นและใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 3 อีกถึง 3 ครั้ง ถูกที่ไหล่ซ้ายและสะบักซ้าย จนกระทั่งมีเสียงปืนดังขึ้นอีก กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ราวนมขวา จำเลยกับพวกจึงมีเจตนาร่วมกันที่จะทำการประทุษร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามมาตั้งแต่ต้นโดยร่วมมือร่วมใจกันคบคิดและตระเตรียมกันหาอาวุธติดตัวเพื่อทำการประทุษร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามอันเป็นพฤติกรรมที่จำเลยกับพวกเล็งเห็นผลได้ตลอดเวลา จะอ้างว่าผลที่เกิดกับผู้ตายและผู้เสียหายอื่น ๆ มิใช่การกระทำของจำเลยเพราะจำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดอันเกิดจากการกระทำของพวกจำเลยหาได้ไม่
จำเลยกับพวกจำนวนกว่า 10 คน ใช้ทั้งปืนและมีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธยิงและฟันตลอดจนกระทืบ เตะและต่อยในลักษณะรุมทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกมีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ถือได้ว่าจำเลยกับพวกได้กระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามด้วยความรุนแรงอย่างอุกอาจเยี่ยงอันธพาล ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง นับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมโดยส่วนรวมและเป็นการทำลายภาพพจน์ของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นนักศึกษาแต่ก็มีอายุถึงยี่สิบปีบรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่จะไม่กระทำความผิดร้ายแรงเช่นนั้น ทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่ลงโทษในความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคำฟ้อง นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งยังเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่บุคคลอื่นอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยอ้างความจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัวก็เป็นความจำเป็นที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย