คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นายกฯ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งปิดประชุมของประธานศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมาย เหตุจากนายกฯ ขอให้พิจารณาเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการใหม่
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดตอนหนึ่งและเอาโทษแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกตอนหนึ่ง ในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเป็นการกระทำ ต่อเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง และเป็นการกระทำให้บุคคลดังกล่าว ได้รับความเสียหาย เอกชนผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงหน้าที่ตลอดจนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้องคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากจะเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการแล้วยังเป็นตำแหน่งทางฝ่ายบริหารมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ธุรการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ด้วย ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีสูงกว่าตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น การแต่งตั้งโจทก์จากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่โจทก์เป็นการขัดกับ การที่โจทก์ยังมีโทษงดบำเหน็จอยู่ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการหาข้อยุติความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณา สั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ในทางบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญยิ่งก็คือการจะนำเรื่องใดเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งนั้นเรื่องนั้นจะต้องมีข้อยุติว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว การที่จำเลยที่ 2 พยายามหาข้อยุติความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่แต่งตั้งโจทก์และยังไม่อาจนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปนั้นหาใช่จำเลยที่ 2 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์เสียหายอย่างใดไม่ จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาและเป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่งในการประชุมก.ต.ประธานก.ต. เป็นประธานที่ประชุม โดยทั่วไปแล้วในการประชุมประธานที่ประชุมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ จัดการประชุมและรับผิดชอบดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วย ความเรียบร้อยและเป็นผลดีแก่ทางราชการ หากไม่มีข้อบังคับ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรประธานที่ประชุม จะสั่งเลื่อนหรือปิดประชุมก็ย่อมทำได้ ได้ความว่า ในตอนเช้าจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้ดำเนินการประชุม ก.ต. ไป ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งถึงวาระการ แต่งตั้งข้าราชการตุลาการ จำเลยที่ 3 แถลงขอให้ที่ประชุม เลื่อนวาระนี้ไปก่อนโดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นว่า มีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อยู่อีกและเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ส่วนจำเลยที่ 4 ก็ได้พยายาม ชี้แจงและขอร้องให้ที่ประชุมเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป โดยแจ้งว่าการเลื่อนออกไปจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในที่สุดส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควร ให้มีการเลื่อนจำเลยที่ 4 จึงอาศัยอำนาจของประธาน ที่ประชุมสั่งให้เลื่อนและปิดประชุมทั้งนี้โดยมีมูลเหตุมาจาก การขอร้องของพลเอก ส. นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลดี ต่อบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านตามรัฐประศาสโนบาย โดยเฉพาะ เป็นผู้มีหน้าที่นำมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อพลเอก ส. เห็นว่าโจทก์ยังมีโทษทางวินัยอยู่และการแต่งตั้งโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชกระแส เช่นนี้การที่จำเลยที่ 4 ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนโดยแจ้งว่าการเลื่อนจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านแล้ว จึงได้สั่งให้เลื่อนและปิดประชุมหากจำเลยที่ 4 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยที่ 4 จะไม่นำเรื่องการแต่งตั้งโจทก์บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็ย่อมได้ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 4 ก็รู้อยู่ว่าโจทก์มีโทษ ทางวินัยอยู่ การที่ภายหลังต่อมามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อน การประชุมดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 สั่งเลื่อนและปิดประชุมโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2520 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดครองป่าสงวนแห่งชาติ แม้มีหนังสืออนุญาตจากนายกฯ แต่ทราบหลังเกิดเหตุ จึงไม่อาจอ้างความสุจริตได้
จำเลยร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอ้างว่ามีหนังสือของนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเรื่องราษฎรเข้าทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการกระทำผิด เมื่อจำเลยทราบข้อความตามหนังสือของนายกรัฐมนตรีหลังที่เกิดเหตุคดีนี้แล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตใจตามหนังสือฉบับนั้นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด การที่หนังสือดังกล่าวไม่ให้เอาผิดราษฎรที่เข้าทำไร่นาในป่าสงวนอยู่ก่อนแล้ว และถ้าถูกเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังไว้ก็ให้ปล่อยตัวไปนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยฎีกาว่า ถ้าศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยก็ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษนายกฯ ตามธรรมนูญการปกครอง 2520 และความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจำคุก
เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้จัดร่างขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ดังนั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 จึงเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น
เมื่อตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนหรือทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย" ถ้อยคำในมาตรา 27 ที่ว่า ...ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้" ย่อมรวมถึงการสั่งจำคุก ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
เมื่อปรากฏตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ว่า อ. ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกมีเฮโรอีนน้ำหนัก 92 กิโลกรัมเศษ มอร์ฟีน 98 กิโลกรัมเศษ และฝิ่นสุกอีก 81 กิโลกรัมเศษ อันเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ บ่อนทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ครบองค์ประกอบความผิดที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต อ. ในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้ อันเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้การออกคำสั่งดังกล่าวมีผลเป็นการลงโทษจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคล ซึ่งโดยปกติจะกระทำได้โดยอาศัยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการและมาตรา 29 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักร พ.ศ.2520 จะบัญญัติว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย" ก็ตาม ก็ไม่ขัดหรือแย้งกันเอง และหาทำให้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 กลับกลายเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายไม่ ทั้งนี้เพราะการใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เป็นการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งใดๆ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ดังกล่าว ส่วนอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาและตุลาการสำหรับคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27
กรณีไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ที่บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย" เพราะการสั่งจำคุก อ. ในคดีนี้เป็นการสั่งโดยชอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 หาใช่เป็นกรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับไม่ ดังนั้น คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย กรณีของผู้ร้องไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 90 ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัว อ.