คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นายจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,104 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9016-9043/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างเหมาช่วงงานและมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ การเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชย
เมื่อจำเลยที่ 2 จ้างบริษัท ค. ให้จัดหาคนงานหรือลูกจ้างในตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนด เพื่อไปทำงานของจำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ และงานดังกล่าวจำเลยที่ 2 รับจ้างจากบริษัท ช. ให้ดำเนินการเรื่องเรือเพื่อการผลิต การขนถ่าย และจัดเก็บปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อเตรียมจำหน่าย จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบหมายให้บริษัท ค. จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธรุกิจจัดหางาน โดยงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วยตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และต่อมาเมื่อได้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นและจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกิจการและพนักงานของบริษัท ค. รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาของบริษัท ค. ที่มีต่อจำเลยที่ 2 มาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบแปดให้ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดด้วย
การทำงานบนเรือมีรอบการทำงานยี่สิบแปดวันและหยุดพักไม่ต้องทำงานยี่สิบแปดวัน เงินค่าพาหนะเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เหมาจ่ายให้เป็นค่าเดินทางจากภูมิลำเนาที่พักมายังท่าเรือจังหวัดระยองเพื่อไปขึ้นทำงานบนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ จะให้ต่อเมื่อต้องเดินทางมาเพื่อขึ้นไปทำงานบนเรือเท่านั้น หากมิใช่รอบที่จะไปทำงานบนเรือก็จะไม่ได้รับเงินค่าพาหนะและโจทก์แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน การจ่ายค่าพาหนะดังกล่าว แม้จะจ่ายโดยเหมาจ่ายให้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบแปดมีกำหนดเวลาทำงานติดต่อกันเป็นช่วง ช่วงละยี่สิบแปดวันที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและช่วงที่ไม่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งอีกยี่สิบแปดวันสลับกันไป เงินค่าพาหนะจะจ่ายให้เฉพาะช่วงที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและได้รับจำนวนไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสำหรับค่าเดินทางจากภูมิลำเนาไปยังท่าเรือจังหวัดระยอง มิได้จ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดและมิได้ประสงค์จะจ่ายเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9015/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำงานล่วงเวลาต้องมีคำสั่งจากนายจ้างและได้รับความยินยอมจากลูกจ้างชัดเจน จึงจะถือเป็นชั่วโมงทำงานล่วงเวลา
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 ให้นิยามของ "การทำงานล่วงเวลา" หมายความว่า "การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี" และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการทำงานของลูกจ้างที่จะเป็นการทำงานล่วงเวลาจึงต้องเป็นกรณีที่เป็นความประสงค์ของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยลูกจ้างให้ความยินยอมก่อนเป็นคราวๆ ไป และจะต้องเป็นการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นหากนายจ้างจะออกคำสั่งในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา แล้ววินิจฉัยว่าถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา จึงชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9008/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบาดเจ็บจากการทำงาน: การป้องกันประโยชน์ให้นายจ้างทำให้เกิดความรับผิดชอบ
เนื่องจากมีพนักงานในแผนกที่ ว. สามีโจทก์เป็นหัวหน้ามาถามโจทก์ว่า ว. อยู่ที่ไหน มีงานให้เซ็นชื่อ โจทก์จึงไปตาม ว. ที่นอนอยู่มุมหลังห้องฉีดพลาสติกที่ติดตั้งเครื่องดูดอากาศให้ไปทำงาน ระหว่างที่โจทก์เดินผ่านเครื่องดูดอากาศ เครื่องดูดอากาศได้ดูดแขนโจทก์เข้าไปเป็นเหตุให้มือซ้ายขาด แม้ว่า ว. หลบเข้าไปนอนจนถึงเวลาทำงานแล้วยังไม่ไปทำงาน แต่โจทก์มิได้ไปตามเนื่องจากกลัวว่า ว. จะถูกนายจ้างลงโทษหรือโจทก์จะไปกระทำเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการงาน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างนั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินประกันการทำงานนายจ้างต้องจัดทำบัญชีแยกรายบุคคลและคืนเงินให้ลูกจ้างตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และเพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง กำหนดจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา โดยข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ดังนั้น เพื่อใช้ลูกจ้างได้รับเงินประกันคืนภายในเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ย นายจ้างจึงต้องนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และคืนเงินประกันในบัญชีเงินฝากนั้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี แก่ลูกจ้างต่อไปโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการพนักงานทั้งการจ่ายเงินปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีก็เป็นการปันผลคืนสู่ลูกจ้างในรูปแบบของสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้สืบพยานโจทก์ในประเด็นที่จำเลยกับพวกกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์โดยการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์ ระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินประกันการทำงาน นายจ้างต้องแยกบัญชีรายบุคคลและจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินตามบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน เพื่อคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการของพนักงานโดยจ่ายปันผลคืนแก่ลูกจ้างในรูปแบบสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 10 วรรคสอง และประกาศกระทรวงดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เคยมีหนังสือภาคทัณฑ์ลูกจ้างเพราะบันทึกสต๊อกสินค้าบกพร่องมิได้กล่าวถึงเรื่องบันทึกสต๊อกสินค้ามีมูลค่าสูงเกินจริงแต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าลูกจ้างกระทำการยักยอกทรัพย์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และอุทธรณ์โจทก์ที่กล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางไม่ให้สืบพยานโจทก์ในระหว่างพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7337/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง แม้มีการให้หยุดงานช่วงลูกค้าน้อย นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดที่ชัดเจนตามกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน" และมาตรา 56 บัญญัติว่า "ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดดังต่อไปนี้...(3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี" ตามสภาพของงานปรากฏว่าลูกจ้างโจทก์ทั้งห้าคนทำงานในตำแหน่งพนังานขับรถโดยสารไม่ประจำทางให้บริการลูกค้าของโจทก์เพื่อการท่องเที่ยว ในแต่ละปีจะมีช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่น้อยกว่าสามสิบวันที่โจทก์มีลูกค้าใช้บริการน้อย ลูกจ้างไม่ต้องขับรถก็ให้หยุดงานโดยไม่ต้องมาทำงานโดยให้ได้รับค่าจ้าง แม้การที่โจทก์ให้ลูกจ้างหยุดงานเช่นนี้มีจำนวนมากวันกว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ก็ไม่มีกำหนดยกเว้นในวันที่ใดว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีก และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ได้กำหนดให้พนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีโดยได้รับค่าจ้างปีละหกวันทำงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ จะกำหนดล่วงหน้าให้หรือตามที่ตกลงกัน ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดล่วงหน้าให้วันใดในแต่ละปีเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือมีการครบหนึ่งปี จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20 ได้บัญญัติห้ามนายจ้างมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 และต่อมาตกลงกันได้ตามมาตรา 18 และมาตรา 22 เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นเกิดจากการเรียกร้องดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างแรงงานให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้เท่าที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งหากโจทก์ประสงค์จะทำข้อตกลงให้ลูกจ้างได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปีมากวันยิ่งกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี และไม่ได้ตกลงกับลูกจ้างให้หยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อใด จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นอกจากนั้น แม้ในแต่ละปีจะมีช่วงระยะเวลาที่โจทก์มีลูกค้าใช้บริการน้อย ลูกจ้างไม่ต้องขับรถก็ให้หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างนั้นก็เป็นการหยุดที่ไม่แน่นอน ระหว่างนั้นลูกจ้างอาจได้รับคำสั่งมอบหมายงานจากนายจ้างได้ตามสภาพการใช้บริการของลูกค้า ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงจะนำมากล่าวอ้างว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่ามิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6699/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ต้องมีอำนาจบังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมาย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย
พนักงานขายบัตร ทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้จะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องยื่นใบลา ได้รับค่าตอบแทนจากการขายจากจำนวนบัตรที่ขายได้ในแต่ละวันหากขายไม่ได้หรือขายได้เพียงหนึ่งใบจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้จะมาทำการขายในวันดังกล่าวก็ตามไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลาและสวัสดิการ จึงเป็นการทำงานโดยอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์และการกำหนดให้พนักงานขายบัตรที่มาทำงานสายต้องถูกหักเงินเป็นค่าปรับ ก็มิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรจึงมิใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078-6199/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหยุดกิจการชั่วคราวของนายจ้างภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และสิทธิการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไปอีกเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ลูกจ้างด้วย ซึ่งหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำได้รับความเดือดร้อน เหตุที่นายจ้างจะยกความจำเป็นขึ้นอ้างเพื่อหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป หาใช่ว่าจะต้องมาจากสาเหตุที่นายจ้างประสบปัญหาการขาดทุนเพียงประการเดียวไม่
การที่กิจการของจำเลยซึ่งผลิตเครื่องหนังโดยมีเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศต้องผลิตตามคำสั่งซื้อตามความประสงค์ของผู้สั่งซื้อโดยไม่อาจเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงและขาดช่วง เพราะต้องรอวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้เกิดช่วงเวลาที่ต้องรอวัตถุดิบในการผลิต จำเลยจึงต้องปิดโรงงานผลิตไปบางส่วน และหยุดกิจการบางส่วนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ อันเป็นความจำเป็นที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลยอย่างมาก จำเลยย่อมหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 นี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6076-6077/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมีผลผูกพันเมื่อนายจ้างไม่นำคดีสู่ศาลแรงงานภายในกำหนด และการส่งคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถือว่าชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คดีมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหรือไม่ และจำเลยได้จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วหรือไม่เท่านั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน และหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจ จำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่งระบุความเกี่ยวพันกับจำเลยว่าเป็นพนักงานจำเลย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา 124 วรรคสาม เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง แม้ไม่ได้นำสืบซ้ำ หากจำเลยยอมรับ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบในข้อนี้อีก แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้าง แต่เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ไปแล้ว คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
of 111