พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6944/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดให้ชัดเจน แม้ให้ลาหยุดมากกว่ากฎหมายกำหนด แต่หากมีเงื่อนไขจำกัดสิทธิ ลูกจ้างยังไม่ถือว่าใช้สิทธิ
นาย ช. นาย ธ. และนาย พ. ลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางให้แก่ลูกค้าของโจทก์ที่มาใช้บริการเพื่อการท่องเที่ยว ได้ร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างทั้งสาม จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างทั้งสาม โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกี่ยวกับวันหยุดและวันลาประเภทต่างๆ ไว้ นอกจากนี้ในกรณีไม่มีงานทำหรือไม่ได้ขับรถเพราะไม่มีผู้ว่าจ้างใช้บริการของโจทก์ โจทก์ยังยินยอมให้ลูกจ้างขอลาหยุดปีละไม่น้อยกว่า 30 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งโจทก์อ้างว่าการขอลาหยุดในกรณีนี้ได้รวมวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6 วัน เข้าไว้แล้ว เพียงแต่การลาดังกล่าวลูกจ้างไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการลาประเภทใด แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าเป็นการลาหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แม้โจทก์จะกำหนดเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสอดคล้องกับบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิหยุด แม้โจทก์จะให้ลูกจ้างสามารถลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างปีละไม่น้อยกว่า 30 วัน มากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นคุณแก่ลูกจ้างก็ตาม แต่ก็เฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีงานทำหรือไม่ได้ขับรถเพราะไม่มีผู้ว่าจ้างใช้บริการ ลักษณะวันหยุดดังกล่าวจึงไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนประจำปี เพราะมีเงื่อนไขว่าจะลาหยุดได้เฉพาะกรณีไม่มีงานทำเท่านั้น ทั้งลูกจ้างก็มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าวันลาหยุดดังกล่าวเป็นการขอลาหยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ถือได้ว่าลูกจ้างของโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิหยุดสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จำต้องชำระค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างทั้งสามตามคำสั่งของจำเลย