คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นายจ้างใหม่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242-7254/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การควบรวมกิจการและการโอนสิทธิลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ลูกจ้างย่อมโอนไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่โดยอัตโนมัติ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 13 มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องถูกออกจากงานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย การที่ธนาคารจำเลยที่ 1จดทะเบียนควบรวมกิจการกับธนาคาร ซ. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารจำเลยที่ 2 ซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวมิใช่การเลิกกิจการของจำเลยที่ 1 เพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไปโดยผลของการควบรวมกิจการกับนิติบุคคลอื่นเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยที่ 2ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 และจำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก ซึ่งผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะมิได้แสดงเจตจำนงออกมาอย่างชัดแจ้งว่า ประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ตาม เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้จึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปอันเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 118 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า ไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างโดยปริยายจากเหตุโรงงานเสียหาย และสิทธิการทำงานกับนายจ้างใหม่
หลังจากโรงงานของจำเลยถูกไฟไหม้แล้วเป็นเวลา1 ปีเศษ จำเลยมิได้ดำเนินกิจการแต่ประการใด และไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะเปิดดำเนินกิจการอีกเมื่อใด การที่จำเลยให้โจทก์เข้าทำงานที่บริษัทซึ่งเปิดกิจการทำนองเดียวกันแต่โจทก์ไม่ยอมทำตามจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ไม่ได้เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไปทำงานกับบริษัทใหม่หรือไม่ก็ได้จึงถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13962/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การควบรวมบริษัทและการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน: ฐานะนายจ้างใหม่
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 ให้ความสำคัญเรื่องการเรียกเก็บเงินสมทบโดยคำนึงถึงตัวนายจ้างเป็นหลัก หากข้อเท็จจริงจากตัวนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปย่อมทำให้การประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อโจทก์เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเดียวกันเข้าด้วยกันและก่อนควบรวมกิจการบริษัททั้ง 7 แห่งต่างก็มีฐานะเป็นนายจ้างแยกจากกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แยกประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบแยกกันไปตามรายกิจการ เมื่อบริษัททั้ง 7 มาควบรวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวนายจ้างของแต่ละบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ต้องถือว่าบริษัทโจทก์ที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลใหม่และเป็นนายจ้างใหม่ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ใหม่ด้วย เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.40 ของค่าจ้าง การที่โจทก์จะขอนำระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบของบริษัทในเครือมารวมคำนวณเพื่อขอลดอัตราดังกล่าวเพื่อชำระเงินสมทบน้อยลงย่อมไม่ชอบ ทั้งการควบรวมบริษัทในเครือเข้าด้วยกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการดำเนินธุรกิจ มิใช่เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างโดยตรง และวิธีการในการประเมินเงินสมทบได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จะยกอ้างเอาสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1243 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณีของโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนย้ายลูกจ้างและการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการทำงาน: สิทธิเกษียณอายุเป็นไปตามข้อบังคับของนายจ้างใหม่เมื่อลูกจ้างยินยอม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างไม่ว่านายจ้างนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จึงมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 65 ปีบริบูรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจำเลยที่ 2 โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 แม้จะเป็นเหตุให้สิทธิในการเกษียณอายุของโจทก์ต้องลดลงก็ตาม แต่เมื่อการโอนย้ายดังกล่าวโจทก์ยินยอมพร้อมใจ โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างใหม่ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กับนายจ้างใหม่ได้ การที่จำเลยที่ 3 เลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้งแต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49