พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2516 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงโทษอาญาตามบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แม้โจทก์อ้างบทเดิม ศาลใช้บทที่แก้ไขแล้วได้
จำเลยมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ อันเป็นความผิดตามมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 เมื่อโจทก์อ้างบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดมาท้ายฟ้องแล้ว แม้อ้างบทมาตราที่เป็นบทลงโทษไม่ถูกต้อง คืออ้างแต่มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ.2509 และพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2510ซึ่งถูกยกเลิกแก้ไขใหม่แล้ว เมื่อปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำผิดได้มีพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2512 มาตรา 17ยกเลิกแก้ไขบทลงโทษมาตรา 49 ใหม่ ดังนี้ ศาลก็ลงโทษจำเลยด้วยระวางโทษที่กำหนดในบทมาตราที่แก้ไขใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2500
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้บทกฎหมายเดิมลงโทษคดีชำเราที่กระทำก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา แม้ศาลฎีกาตัดสินหลังประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับ
จำเลยกระทำชำเรา ด.ญ.อายุต่ำกว่าสิบสามขวบก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายอาญา ศาลชั้นต้นลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 244 วรรคสอง จำคุก 5 ปี ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาซึ่งตัดสินหลังวันใช้ประมวลกฎหมายอาญาฟังว่าจำเลยทำผิดและวางโทษโทษจำคุกจำเลยเท่าเดิม คือ 5 ปี ศาลฎีกาก็คงใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำผิดเป็นบทลงโทษ (เพราะกำหนดโทษที่วางในคดีนี้ยังไม่เข้ากรณีที่จะพึงใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 280(1) โดยยังไม่มีข้อที่จะยกส่วนที่เป็นคุณของกฎหมายใหม่มาใช้)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8566/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ ศาลต้องใช้บทกฎหมายเดิมที่ให้คุณแก่จำเลย
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณ โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม ขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 5,290 เม็ด น้ำหนัก 459.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.355 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง เดิม ซึ่งความผิดดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษใน มาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต" มิใช่ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด บัญญัติว่า "ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท" โทษตามกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณมากกว่าโทษตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10458/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจาก พ.ร.บ.เทป/วีดีโอ เป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และการใช้บทกฎหมายเดิมบังคับใช้
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ออกใช้บังคับให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ ทั้งฉบับ แต่การที่จำเลยให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวิดีโอซีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตยังคงเข้าลักษณะเป็นการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ กรณีไม่อาจถือได้ว่ามีการยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย ส่วนแผ่นวิดีโอซีดีเพลง แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวิดีโอซีดีนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้โดยไม่ปรากฏว่าเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องอันเป็นภาพยนตร์ หรือเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ หรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ฯ จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งกฎหมายเดียวกัน ดังนั้นการกระทำของจำเลยในส่วนนี้ ซึ่งเดิมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โทษปรับตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 79 มีระวางโทษหนักกว่าจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ปรับจำเลย 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 3,000 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 39(4) จำเลยอุทธรณ์เรื่องดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ปรับจำเลย 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 3,000 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 39(4) จำเลยอุทธรณ์เรื่องดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว