คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บริการโทรศัพท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าบริการโทรศัพท์: สิทธิเรียกร้องเกิดขึ้นเมื่อใช้บริการ แม้มีเงื่อนไขชำระในใบแจ้งหนี้
สัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 แม้ตามเงื่อนไขของสัญญาที่ระบุให้ผู้ใช้บริการ (จำเลย) นำเงินค่าใช้บริการไปชำระให้แก่ผู้ให้บริการ (โจทก์) ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงเงื่อนไขของการบอกกล่าวเพื่อให้ชำระหนี้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 387 เท่านั้น ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการจึงเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยได้ใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์ในแต่ละครั้ง เมื่อปรากฏตามใบแจ้งหนี้ว่าช่วงเวลาที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์จนถึงวันฟ้องเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าประกันบริการโทรศัพท์เป็นเงินค่าบริการที่ต้องนำมารวมมูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม
เงินค่าประกันการใช้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวซึ่งโจทก์เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการนั้นมีลักษณะเป็นเงินที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ตลอดระยะเวลาที่ผู้ใช้บริการยังคงใช้บริการโทรศัพท์ตามสัญญาที่มีอยู่กับโจทก์ โจทก์อาจนำไปหาประโยชน์อันมีมูลค่าได้ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนให้ผู้ใช้บริการเมื่อเลิกใช้บริการเท่านั้นแม้กระนั้นการคืนก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าใช้บริการอยู่ เงินดังกล่าวจึงต้องถือเป็นเงินค่าบริการซึ่งต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าเช่าบริการโทรศัพท์: องค์การโทรศัพท์ฯ ในฐานะผู้ค้า
โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 ซึ่งตามมาตรา 9 ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการได้หลายประการเช่น การให้บริการต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์กำหนดอัตราค่าเช่า ค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ และค่าบริการอื่น ๆของกิจการโทรศัพท์ซึ่งผู้ที่ดำเนินกิจการเช่นนี้ย่อมนับว่าเป็นผู้ค้า การที่โจทก์ให้จำเลยใช้บริการคู่สายเคเบิลโทรศัพท์แล้วคิดค่าเช่าตามอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้ารับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันพึงจะได้รับจากการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) เดิม ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ: การตีความฐานะผู้ค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(7)
การที่โจทก์จัดให้มีบริการพูดโทรศัพท์ติดต่อไปต่างประเทศและเรียกเก็บเงินค่าบริการในการพูดโทรศัพท์นั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำงานต่าง ๆ และเรียกร้องเอาสินจ้างอันจะพึง ได้รับในการนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(7) สิทธิเรียกร้องเช่นนี้มีอายุความ 2 ปี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากความบกพร่องในการบริการโทรศัพท์ การตัดฟิวส์โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ที่โจทก์ค้างชำระ เลยงวดการชำระหนี้หลายงวด และได้มีการชำระในงวดหลังหลายงวด บางงวดก็นานมากแล้วนอกจากนี้ยังเคยปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าเช่าและค่าบริการจากโจทก์ผิดพลาดมาก่อนถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นเหตุอันควรที่โจทก์จะสงสัยว่าได้ชำระไปแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะโต้แย้งและขอตรวจสอบได้. จำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้ตรวจสอบสำเนาใบแจ้งหนี้ตามคำขอของโจทก์และปรากฏว่าได้มีการส่งสำเนาใบแจ้งหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์เคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ว่า หากมีหลักฐานว่าค้างชำระก็จะชำระให้ แสดงว่าโจทก์มิได้ปฏิเสธว่าจะไม่ชำระหนี้ที่ทวงถามโดยเด็ดขาด เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง จำเลยที่ 3 ทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นผ่านจำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา จนในที่สุดผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็มีคำสั่งปลดฟิวส์ มิให้โจทก์ใช้โทรศัพท์ เหตุที่มีการปลดฟิวส์ จึงเป็นผลจากการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 มุ่งแต่จะบีบบังคับโจทก์ให้ชำระหนี้ที่ค้าง ไม่สนใจที่จะแก้ข้อสงสัยที่มีเหตุอันควรสงสัยของโจทก์ ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้โดยง่าย ซึ่งการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ยอมแก้ข้อสงสัยของโจทก์เช่นนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 ย่อมคาดหมายได้ว่าโจทก์จะไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างและจะต้องถูกปลดฟิวส์ ซึ่งย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้โทรศัพท์ การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงเป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์มีหนังสือโต้แย้งเรื่องค่าเช่าและค่าบริการที่อ้างว่าโจทก์ค้างชำระไปยังจำเลยที่ 2 กลับเป็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการตามหนังสือแทนจำเลยที่ 2 เสียเองโดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 2 บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 3 ที่ 4 พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 6มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วย การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเป็นเหตุให้โจทก์ถูกตัดฟิวส์ โทรศัพท์ตามฟ้อง ถือว่ามิได้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย.