พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10510-10512/2546
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของกรรมการบริษัทผู้จัดหางานต่อคนหางาน กรณีค่าใช้จ่ายเดินทาง ไม่ถือเป็นนายจ้างร่วม
โจทก์ทั้งสามเป็นคนหางานฟ้องเรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 บริษัทผู้จัดหางานเรียกเก็บไปจากโจทก์ทั้งสามคืน ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 46 ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จึงไม่อาจนำความในมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาปรับใช้เพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างด้วย กรณีต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 และมาตรา 820, 821 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5086-5096/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดความรับผิดของบริษัทจัดหางานต่อค่าจ้างค้างจ่ายของนายจ้างต่างประเทศ: ตัวแทน vs. ผู้ให้บริการ
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศและได้รับจัดหางานให้โจทก์กับพวกไปทำงานในต่างประเทศกับบริษัท ค. โจทก์กับพวกได้เดินทางไปทำงานกับบริษัทดังกล่าว ต่อมาบริษัทดังกล่าวค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์กับพวก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ค. ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนหรือไม่ และสัญญาจ้างแรงงานที่บริษัท ค. ทำกับโจทก์กับพวกนั้น จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญาแทนบริษัท ค. หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาจึงยังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทอันเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างที่บริษัท ค. ค้างจ่ายแก่โจทก์กับพวกหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นเรื่องจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ค. แล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามฟ้อง จึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9925/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม เหตุข้อฎีกาใหม่ ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ แม้เป็นเรื่องการส่งมอบเงินผ่านบริษัทจัดหางาน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์ 230,000 บาท และได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นคนจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 โดยตรงไม่ได้ผ่านบริษัทจัดหางาน ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับเงินกู้ 230,000 บาท จากโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 230,000 บาท และจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปมอบให้บริษัทจัดหางานทันที จำเลยที่ 1 จึงได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นกรณีที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์โดยตลอดว่า โจทก์มอบเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 230,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้ยืมเงิน ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับเงินกู้ 230,000 บาท จากโจทก์ ดังนี้ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการที่โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศให้แก่จำเลยทั้งสามไปก่อน และถือว่ามีการส่งมอบเงินที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามยืมแล้ว หาใช่ว่าจำเลยทั้งสามต้องรับเงินจากโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศให้แก่จำเลยทั้งสามผ่านบริษัทจัดหางานไปก่อนหรือไม่ เพียงใด ที่โจทก์ฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง