คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บริหารจัดการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหยุดงานชั่วคราวต้องมีเหตุจำเป็นสำคัญจากการประกอบกิจการจริง มิใช่ปัญหาการบริหารจัดการภายใน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นกฎหมายที่คุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายจึงให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอางจะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร
โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างบางส่วนคือ ท. กับพวกรวม 444 คน หยุดงานชั่วคราวเป็นระยะ ๆ จำนวน 17 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 คน รวม 31 วัน แม้โจทก์จะอ้างว่ายอดสั่งซื้อสินค้าลดลง แต่ลักษณะการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวของโจทก์เป็นการคาดหมายว่าจะประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าซึ่งไม่มีความแน่นอน ประกอบกับโจทก์มีปัญหาด้านแรงงานกับลูกจ้าง และบางครั้งโจทก์ขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของโจทก์เป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของโจทก์เองที่ขาดการวางแผนที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกและการขาดนัดคดี การบริหารจัดการภายในของจำเลยมิอาจเป็นเหตุอ้างได้
ในคดีแรงงานเมื่อพนักงานเดินหมายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย โดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลแรงงานณ ภูมิลำเนาของจำเลยคือสำนักงานใหญ่อันเป็นสำนักทำการงานของจำเลยแล้วการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 74 ประกอบมาตรา 79 ส่วนการที่พนักงานจำเลยซึ่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ได้เก็บรวบรวมสำเนาคำฟ้องไว้กับเอกสารอื่นซึ่งมีจำนวนมากกว่าจะมีการแยกแยะ เพื่อส่งไปยังผู้บริหารซึ่งไปประจำอยู่ ณ สำนักงานโครงการ อันเป็นสำนักงานชั่วคราวเกิดความล่าช้ารวมทั้งระยะเวลาในการส่งไปยังผู้บริหารดังกล่าวก็ล่วงเลยกำหนดนัดของศาลโดยจำเลยไม่มีเจตนาจะไม่ยื่นคำให้การ และไม่ไปศาลตามนัดนั้น เป็นเรื่องการบริหารกิจการภายในที่จำเลยจะต้องกำชับดูแลพนักงานจำเลยให้ปฏิบัติงานให้ทันตามกำหนดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย การที่พนักงานจำเลยตรวจสอบแยกแยะเอกสารล่าช้าและส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่ผู้บริหารของจำเลยล่วงเลยเวลาซึ่งกำหนดให้ปฏิบัติตามข้อความในหมายเรียก เมื่อเป็นความผิดหรือบกพร่องของจำเลยเอง จึงมิใช่เหตุอันสมควรที่จำเลยจะยกมาอ้างต่อศาลในการไม่ไปศาลตามนัดในหมายเรียก การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการขาดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้พิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอปลดจากล้มละลายถูกปฏิเสธเนื่องจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการทรัพย์สินและเจตนาฉ้อฉล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อนับถึงวันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอปลดจากล้มละลายเป็นเวลาเพียง 2 ปี 7 เดือนเศษเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามและทำบัญชีส่วนแบ่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เพียงครั้งเดียวเป็นเงิน 729,785.96 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.54 ของหนี้ทั้งหมดโจทก์ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้อีก46,568,912.44 บาท และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามได้อีก และการที่จำเลยที่ 2และที่ 3 มีทรัพย์สินเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน ไม่ใช่ผลธรรมดาอันเนื่องมาจากการค้าขายขาดทุนและไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันควรจะตำหนิจำเลยที่ 2และที่ 3 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าตนสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ จึงได้ก่อหนี้ขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งมิได้นำบัญชีในการประกอบธุรกิจและงบดุลประจำปี ในระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายมาแสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นฐานะของกิจการโดยถูกต้องตามจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องด้วยสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 74 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อกำหนดมาตรา 73(1) และ (3) ประกอบกับโจทก์คัดค้านการขอปลดจากล้มละลายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงนับว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เสียหายในคดีใช้เอกสารปลอม: ความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียนและการแสดงเอกสารต่อผู้อื่น
จำเลยในฐานะครูใหญ่ยื่นเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาป่วยต่อผู้จัดการโรงเรียนคือจำเลยเอง โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าของโรงเรียนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการของโรงเรียนในขณะนั้นแต่ประการใด แม้ใบรับรองแพทย์จะเป็นเอกสารปลอมแต่จำเลยมิได้ใช้เอกสารดังกล่าวแสดงต่อโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในข้อหาใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13531/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกล่าช้าจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการของจำเลย ไม่เป็นเหตุให้พิจารณาคดีใหม่ได้
จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลแรงงานกลางพิจารณาคำร้องของจำเลยเฉพาะเหตุในเนื้อหาแห่งคดีตามที่โจทก์จำเลยแถลงรับกัน โดยไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่จำเลยมาศาลไม่ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 การดำเนินกระบวนพิจารณาจึงไม่ชอบ
เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยชอบแล้วและโจทก์ไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว
พนักงานรักษาความปลอดภัยลงชื่อรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ตามปกติพนักงานรักษาความปลอดภัยทำงานเป็นกะจึงต้องมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่แทนคนที่รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นเห็นซองเอกสารบรรจุหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจ่าหน้าถึงจำเลยแล้วเพิ่งนำส่งจำเลยในวันที่ 14 กันยายน 2554 ซึ่งล่วงเลยไปเป็นเวลาถึง 21 วัน จึงเป็นเรื่องผิดปกติ ความผิดพลาดที่ทำให้จำเลยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องล่าช้าเกิดจากการบริหารจัดการของจำเลยเอง การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ จึงไม่ใช่เหตุแห่งความจำเป็นที่เป็นการสมควรยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างบริหารจัดการ: การขยายสัญญาต้องมีเจตนาตรงกันของทั้งสองฝ่าย มิใช่สิทธิโดยอัตโนมัติ
จำเลยทำสัญญาการจัดการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการและบริหารกิจการโรงแรมของจำเลย สัญญาการจัดการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลานับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 ครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาการบริหารโรงแรมไปอีก 10 ปี จำเลยปฏิเสธการขยายระยะเวลาโดยอ้างว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยไม่ได้ตกลงไว้ ข้อสัญญาดังกล่าวทั้งหมดหาได้มีความหมายว่าจำเลยจะต้องยินยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาการจัดการทันทีไม่ เพราะไม่มีข้อความใดที่ชัดเจนพอที่จะแสดงได้ว่าการขยายอายุสัญญาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นการยากที่คู่สัญญาจะเขียนสัญญาให้ชัดเจนเช่นนั้น หรืออาจจะเขียนไปในสัญญาเสียเลยก็ได้ว่าให้สัญญานี้มีอายุ 20 ปี แต่ให้สิทธิโจทก์บอกกล่าวให้สัญญาสิ้นสุดลงได้เมื่อสัญญาครบ 10 ปี ดังนั้น การแปลความว่าจำเลยจำต้องยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาออกไปตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ต่อจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจพิจารณาความน่าพึงพอใจของโจทก์ในการบริหารงานหรือพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในระยะเวลาที่ผ่านมาเสียก่อน จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาจ้างบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความพึงพอใจและการไว้วางใจต่อกันเป็นส่วนสำคัญในการตกลงทำสัญญาด้วย อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ข้อสัญญาดังกล่าวตอนต้นมีข้อความว่า "Subject to mutual agreement" ซึ่งหมายความว่า ข้อสัญญาข้อนี้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ก็ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป คู่สัญญายึดถือเจตนาที่ต้องตรงกันของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญมากกว่าลำพังเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนข้อบังคับของบริษัทจำเลยและสัญญาผู้ถือหุ้นก็เป็นข้อกำหนดในการบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลย โดยกำหนดประเภทและจำนวนกรรมการที่จะมีอำนาจดำเนินการให้มีผลผูกพันบริษัทจำเลยในกิจการแต่ละเรื่อง มิได้มีข้อความหรือความหมายเป็นข้อผูกพันจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจำเลยจะต้องว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้บริหารจัดการโรงแรมของจำเลยต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีความประสงค์จะให้สัญญาการจัดการขยายออกอีก 10 ปี ตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ฝ่ายเดียว การขยายอายุสัญญาการจัดการจึงไม่เกิดขึ้น
การที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนตามสัญญาการจัดการและได้แนบสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลมาท้ายฟ้อง รวมทั้งอ้างเอกสารดังกล่าวในบัญชีระบุพยาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้หมายเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ในส่วนของคำแปลโจทก์จัดให้มีการรับรองว่าแปลถูกต้องกับสัญญาการจัดการ สัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษและคำแปลจึงเป็นพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนความโดยชอบ ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับได้ ส่วนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 23 ไม่ได้มีความหมายว่า หากในคดีนั้นคู่ความอ้างเอกสารภาษาต่างประเทศมาพร้อมกับคำแปลแล้ว ศาลต้องรับฟังแต่คำแปลเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด: ความรับผิดเมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริหารจัดการอาคารชุดแต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้าง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดตามข้อบังคับหรือตามมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้เจ้าของร่วมทุกคนต้องชำระค่าใช้จ่ายล่วงหน้าแก่นิติบุคคลอาคารชุดในวันโอนกรรมสิทธิ์เพื่อไว้เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหาร พัฒนาปรับปรุงซ่อมแซม หรือจัดซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง และเป็นเงินสำรองใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน และให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนำฝากธนาคารในนามของจำเลย แต่โจทก์ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวตามข้อบังคับในวันโอนกรรมสิทธิ์ และไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลย โจทก์กลับออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้แก่เจ้าของร่วมไปใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์รวม 6 ห้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ประเด็นพิพาทจึงอยู่ที่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าของร่วมเรียบร้อยแล้วจึงออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้เจ้าของร่วมเพื่อใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามฟ้อง แต่หากเป็นไปดังที่จำเลยให้การโจทก์ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยปฏิเสธการชำระค่าจ้างได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปด้วยกันได้