คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บสท.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจ บสท. ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและการขายทอดตลาด ไม่ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย แม้มีการสวมสิทธิ
จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบัน การเงินด้วยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 การที่จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นทรัพย์จำนองของโจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 76 ที่บัญญัติว่า ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ และมาตรา 82 บัญญัติว่า การเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 จะกระทำมิได้ จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 76 อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามที่ พ.ร.ก. นี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการขายทอดตลาด ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน หรือในกรณีศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นเพียงการให้อำนาจจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะคู่ความหรือดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ด้วย ไม่ใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.ก. นี้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้มากกว่าการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. จึงหาใช่บทบังคับว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. เท่านั้น จำเลยที่ 1 มีอำนาจขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินโดยวิธีอื่นตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ตามมาตรา 74 และ 76

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12754/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายทรัพย์สินด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก. บสท. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประกาศขายทอดตลาดที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นการรับโอนไม่มีผล
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 บัญญัติว่า "ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์แก่ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้" และมาตรา 77 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การจำหน่ายทรัพย์สินตามมาตรา 76 ให้ บสท. ประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย โดยลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน" โจทก์ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่ 16 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 รวมสามวันติดต่อกัน และลงโฆษณาทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 โดยกำหนดวันขายทอดตลาดเป็นวันที่ 3 สิงหาคม 2550 ซึ่งตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลงโฆษณาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย ดังนี้ สำหรับการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เมื่อนับจากวันที่สามคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 จึงเป็นการประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย แต่สำหรับการลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 แม้หากจะถือว่าการลงโฆษณาดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไป วันที่สามก็คือวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับจากวันดังกล่าวไปสิบห้าวัน วันที่ขายทอดตลาดได้อย่างเร็วที่สุดก็คือวันที่ 5 สิงหาคม 2550 ดังนั้น การลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้มาเป็นของตนแทนการจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังศาลพิพากษา บสท. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8469/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงื่อนไขการฟ้องคดีล้มละลายโดย บสท. ต้องเข้าหลักเกณฑ์หนี้สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย แม้ไม่ให้ความร่วมมือ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มิได้มีบทบัญญัติยกเว้นหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 และมาตรา 10 ทั้ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่ ก็บัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยเงื่อนไขในการฟ้องคดีล้มละลายมาใช้บังคับด้วย มาตรา 58 วรรคสี่ จึงเป็นบทบัญญัติในส่วนวิธีพิจารณาที่ใช้แทนการฟ้องคดีล้มละลายทั่วไปและเป็นบทบัญญัติที่ให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นเงื่อนไขของการฟ้องคดีล้มละลายครบถ้วนแล้วเท่านั้น เมื่อตามคำร้องปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ บสท. อันมีจำนวนไม่ถึง 1,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 (2) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหนี้สิทธิเรียกร้องไปยัง บสท. ทำให้ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พรบ. บสท. 2544
หลังจากธนาคารโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ได้โอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพจำเลยร่วมให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) ดังนั้น เมื่อได้มีการโอนหนี้สินรายนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) ไปแล้ว ก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้มีคำพิพากษา และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) มิได้ยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตาม พรก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่งและวรรคหก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.ก. บสท. ต้องเริ่มด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การทวงหนี้อย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการไม่ให้ความร่วมมือ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้ บ.ส.ท.คือ ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณาแก่ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้โดยไม่จำต้องดำเนินการไต่สวนก่อนหากได้ความแน่ชัดตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่าลูกหนี้ดังกล่าวไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน
คดีนี้ก่อนยื่นคำร้องผู้ร้องเพียงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ทั้งสี่ชำระหนี้ มิใช่กำหนดนัดให้ลูกหนี้ทั้งสี่มาเจรจากับผู้ร้องเพื่อเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 57 วรรคสี่ (1) ถึง (5) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ทั้งสี่แล้ว ซึ่งหากลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวทวงถามดังกล่าวก็เป็นเพียงได้ชื่อว่าผิดนัดเท่านั้น แต่จะถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเนื่องจากคดีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยหนี้ของลูกหนี้ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บสท. ต้องส่งคำร้องให้ลูกหนี้คัดค้านก่อน แม้มีอำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก. บสท.
แม้ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่ บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณากับลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยทันทีแต่อย่างใด
เมื่อปรากฏตามสำเนาหนังสือและสำเนาใบตอบรับเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่า ก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้มาเสนอแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้องไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้จำนวน 2 ครั้ง มีเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัยของอาคารเป็นผู้รับแทน ส่วนสำนักงานที่ทำการของลูกหนี้ตั้งอยู่เฉพาะชั้นที่ 6 กรณีจึงยังไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟังยุติเพื่อให้ได้ความแน่ชัดแล้วว่าลูกหนี้ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ การที่ศาลล้มละลายกลางตรวจพิจารณาคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดทันทีโดยมิได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องและส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสลูกหนี้ได้คัดค้านก่อนนั้น จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่