คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บัญชีร่วม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกบัญชีร่วม: ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่แบ่งปันตามสิทธิของทายาท แม้มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนตัว
ผู้ขอถอดถอนเป็นทายาทเจ้ามรดกอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารเป็นทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่ามีสิทธิในเงินฝากดังกล่าวหนึ่งในสี่ส่วน และไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยตกลงกันว่าให้กันเงินตามส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เฉพาะตนไว้ในบัญชีที่เหลือนอกนั้นคงถอนมาแบ่งกันตามส่วนของทายาท ซึ่งผู้ร้องได้จัดการเสร็จสิ้นแล้ว พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอถอดถอนเท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1473/2542 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการถอนเงินบัญชีร่วมหลังเจ้าของบัญชีเสียชีวิต จำเลยมีหน้าที่ให้ความยินยอมตามข้อตกลง
เมื่อ พ.เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และจำเลยซึ่งเป็นทายาทของพ. ได้เข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินบัญชีเงินฝากในธนาคารคนละครึ่งกับโจทก์แทน พ. แต่เนื่องจากโจทก์กับ พ.ตกลงกันว่า หากคนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรมต้องให้ทายาทให้ความยินยอมในการถอนเงินฝากในธนาคารตามบัญชีเงินฝากที่พิพาท ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของ พ. ตาม ป.พ.พ.มาตรา1600 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องให้ความยินยอมในการที่โจทก์ขอถอนเงินเฉพาะส่วนของโจทก์จากบัญชีดังกล่าว การที่จำเลยไม่ให้ความยินยอมในการที่โจทก์จะถอนเงินส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและหากจำเลยไม่ยินยอม ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงต่อธนาคารแทนการให้ความยินยอมของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาเบียดบังเงินในบัญชีร่วม: การกระทำเป็นกรรมเดียวหรือไม่หลายกรรม
จำเลยเบิกถอนเงินจากบัญชีของ ผ.5 ครั้ง โดยมีเจตนาถอนเงินทยอยออกมาเป็นคราว ๆ นำไปใช้จ่ายระคนปนกันไป เป็นเจตนาเบียดบังเงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายดังกล่าว ไม่ว่าจำเลยจะเบิกถอนเงินจากบัญชีกี่ครั้งก็ตามจำเลยก็มีเพียงเจตนาเดียวเพื่อที่จะเบียดบังเงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายเท่านั้นหาได้มีเจตนาเบียดบังเงินทุกครั้งที่เบิกถอนเงินจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการถอนเงินจากบัญชีร่วม ศาลมีอำนาจสั่งให้ถือคำสั่งศาลแทนเจตนาจำเลย
ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและจำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คือได้ร่วมกับโจทก์นำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้โจทก์ 7 ล้านบาท โดยตกลงกันว่า เมื่อโจทก์ประสงค์จะถอนเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ จำเลยจะต้องร่วมลงลายมือชื่อถอนเงินนั้น เมื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้มีข้อความที่แสดงว่าคู่กรณีตกลงให้จำเลยควบคุมการใช้เงินของโจทก์ ดังนี้ จำเลยจะไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินโดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยทราบตามเจตนารมณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ และกรณีนี้จำเลยจะต้องชำระหนี้ด้วยการร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ถอนเงินจากธนาคาร อันเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งศาลจึงมีอำนาจสั่งบังคับว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ ไม่เป็นการสั่งนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความหรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาตามยอม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดทรัพย์สินอย่างครบถ้วน แม้เป็นบัญชีร่วม ต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิจะได้รับจากบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น เมื่อธนาคาร ท. ได้รับหนังสืออายัดเงินฝากบัญชีของจำเลยทั้งสองจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่คัดค้าน ถือว่าการอายัดมีผลเป็นการอายัดเงินฝากของจำเลยทั้งสองที่ฝากอยู่ที่ธนาคาร ท. ทุกสาขาและทุกบัญชี ธนาคาร ท. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดโดยการอายัดและส่งเงินที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองทุกบัญชีที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิเบิกจากธนาคารซึ่งรวมทั้งที่มีชื่อในบัญชีร่วมกับบุคคลอื่นด้วยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคท้าย การที่ธนาคาร ท. ไม่อายัดและส่งเงินฝากที่จำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมกับบุคคลอื่นจนได้รับหนังสือยืนยันการอายัดและส่งเงินที่เหลือในบัญชีหลังจากได้รับหนังสืออายัดครั้งแรกเป็นเวลาถึง 4 เดือน นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนโดยอ้างว่าผู้แทนโจทก์แถลงว่า ขณะที่ธนาคาร ท. ได้รับหนังสืออายัด จำเลยที่ 2 มีเงินอยู่ในบัญชีประมาณ 2,000,000 บาท ซี่งหากเป็นความจริงธนาคาร ท. จะต้องส่งเงินตามหนังสืออายัดจนครบจำนวนที่อายัดไว้จำนวน 1,038,609 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือถ้าได้ข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นก็ให้มีคำสั่งไปตามรูปคดี เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดว่า ขณะธนาคาร ท. ได้รับหนังสือแจ้งอายัด จำเลยทั้งสองมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำนวนเท่าใดและเป็นความจริงดังที่โจทก์แถลงหรือไม่ก่อน กลับด่วนวินิจฉัยว่า ธนาคาร ท. ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดแล้ว ให้ยกคำขอของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นไม่ชอบ จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าเป็นความจริงดังที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างหรือไม่