คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บัญชีแยก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินประกันการทำงานนายจ้างต้องจัดทำบัญชีแยกรายบุคคลและคืนเงินให้ลูกจ้างตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และเพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง กำหนดจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา โดยข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ดังนั้น เพื่อใช้ลูกจ้างได้รับเงินประกันคืนภายในเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ย นายจ้างจึงต้องนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และคืนเงินประกันในบัญชีเงินฝากนั้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี แก่ลูกจ้างต่อไปโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการพนักงานทั้งการจ่ายเงินปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีก็เป็นการปันผลคืนสู่ลูกจ้างในรูปแบบของสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้สืบพยานโจทก์ในประเด็นที่จำเลยกับพวกกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์โดยการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์ ระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง