คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บ่งเฉพาะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'TRUSTY' ไม่เล็งคุณสมบัติสินค้า แต่บ่งเฉพาะ จึงจดทะเบียนได้ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การดำเนินการเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และของกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535มาตรา 3 และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้
โจทก์บรรยายว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำว่า TRUSTY ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียน คำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ ก็มิได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ชนิดใด หรือบ่งบอกคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่า เป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัย แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่า จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง แต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112-5113/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้า ‘โต๊ะกัง’ ที่เป็นชื่อเสียงและบ่งเฉพาะ ทำให้การใช้ชื่อทางการค้าอื่นคล้ายคลึงกัน ก่อให้เกิดความสับสนได้
คำว่า "โต๊ะกัง" เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า "โต๊ะกัง" จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า "โต๊ะกัง" ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
ปัญหาข้อพิพาทในคดีที่ พ. ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนถูกฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของ พ. เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นั้น เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ พ. แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่า พ. มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9971/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SINGAPOREAIR" ไม่เป็นเครื่องหมายบ่งเฉพาะและขัดต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประดิษฐ์คำว่า "SINGAPOREAIR" ขึ้นใหม่โดยนำคำว่า "SINGAPORE" และ "AIR" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่และไม่มีคำแปลหรือความหมายตามพจนานุกรม แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า "SINGAPORE" ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสิงคโปร์ และคำว่า "AIR" แปลว่า อากาศจึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า "SINGAPOREAIR" ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า "SINGAPORE" แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่าเครื่องหมายบริการ คำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า "SINGAPORE" มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8825/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความบ่งเฉพาะของเครื่องหมายที่ประกอบด้วยตัวเลขและคำธรรมดา
แม้เลขอารบิค 59 กับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า FIFTY โจทก์นำมา ขอจดทะเบียนจะเป็นตัวเลขและคำสามัญที่ใช้สื่อสารในการพูดและเขียนตามปกติทั่วไป แต่ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "59FIFTY" ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ว่า โจทก์ขอจดทะเบียนเลขอารบิค 59 กับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า FIFTY รวมกันเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 มิได้ขอจดทะเบียนเพื่อใช้เลขอารบิคและคำดังกล่าวแยกกัน ดังนั้น ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านี้มีคุณสมบัติอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 วรรคสอง (3) หรือไม่ จึงต้องพิจารณาทั้ง 2 ส่วนรวมกัน ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง (3) เพียงแสดงให้เห็นว่า ถ้าเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ขอจดทะเบียนเป็นตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ก็ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ มิได้หมายความว่า ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่มิได้ประดิษฐ์ขึ้นแต่มีลักษณะการนำเสนอและการใช้ร่วมกันในลักษณะเช่นนี้จะไม่สามารถมีลักษณะบ่งเฉพาะได้ในทุกกรณี ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนรวมกันก็หาได้สื่อถึงสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนหรือเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เครื่องหมายการค้าคำว่า "59FIFTY" จึงมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าของโจทก์ทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่น จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ อันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า LIVE WITH CHIVALRY ไม่เป็นคำทั่วไปหรือลักษณะสินค้า ไม่ต้องแสดงปฏิเสธสิทธิ
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิเช่นนั้นผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยเห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ถ้อยคำที่เล็งถึงคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอันจะถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะและต้องห้ามมิให้นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้น จะต้องเป็นถ้อยคำที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอย่างตรงไปตรงมาจนถึงขนาดที่ว่าทำให้สาธารณชนทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทันที หรือหากสาธารณชนใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้เพราะเป็นคำบรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "LIVE WITH CHIVALRY" และเครื่องหมายการค้าคำว่า "CHIVAS LIVE WITH CHIVALRY" ซึ่งมีคำว่า "LIVE WITH CHIVALRY" เป็นส่วนประกอบ โดยคำว่า LIVE แปลว่า มีชีวิต ดำเนินชีวิต อยู่ คำว่า WITH แปลว่า รวมถึง เกี่ยวกับ คำว่า "CHIVALRY" แปลว่า คุณสมบัติของอัศวิน รวมกันแล้วสื่อความหมายได้ว่า ดำเนินชีวิตตามวิถีอัศวิน เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ 32 และ 33 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แล้ว คำว่า LIVE WITH CHIVALRY จึงไม่ใช่คำแปลหรือความหมายของลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยตรง และไม่ทำให้สาธารณชนทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าได้ในทันที ทั้งคำดังกล่าวไม่อาจทำให้สาธารณชนพิจารณาหรือคิดไตร่ตรองไปถึงสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านี้โดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่น และเมื่อไม่ปรากฏว่าคำว่า "LIVE WITH" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นสินค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ เนื่องจากคำว่า "LIVE WITH" ไม่ได้เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยตรง ถือเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองแล้ว การที่โจทก์ใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าคำว่า "LIVE WITH CHIVALRY" และเครื่องหมายการค้าคำว่า "CHIVAS LIVE WITH CHIVALRY" สำหรับสินค้าจำพวกที่ 32 และ 33 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จึงไม่จำต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "LIVE WITH" กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15698/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความบ่งเฉพาะของเครื่องหมายที่มาจากชื่อบริษัทและภาษาต่างประเทศ
คำว่า หรือ ของเครื่องหมายบริการ และ ตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์มาจากตัวอักษรโรมันคำว่า ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์ ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่ามีแหล่งข้อมูลอื่นที่ให้ความหมายคำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเช่นเดียวกับเอกสารที่จำเลยอ้าง ทั้งปรากฏในเอกสารดังกล่าวด้วยว่าคำดังกล่าวซึ่งเป็นคำย่อยังมีอีกหลายความหมาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าบุคคลที่มีความรู้ภาษาเยอรมันหรือบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการให้คำแนะนำทางเทคนิคต่าง ๆ ทราบดีว่า คำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค แม้คำว่า เป็นคำย่อซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคก็ตาม แต่คำดังกล่าวก็ไม่เป็นคำที่ผู้ใช้บริการสามารถทราบได้ว่าเกี่ยวข้องกับบริการจำพวกที่ 35 และ 42 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียน คำว่า และ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่ใช่คำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง เครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งสี่คำขอ จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 ประกอบมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: 'DR PEPPER' ไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้ 'DR' เป็นคำย่อทั่วไป
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า "DR PEPPER" ซึ่งอาจเรียกขานได้ว่า "ดี - อา - เปป - เปอร์" เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 32 รายการสินค้าน้ำดื่ม น้ำอัดลมและน้ำหวาน เป็นต้น เมื่อตามพจนานุกรม "DOCTOR" มีคำแปลว่า "แพทย์ หมอ ดุษฎีบัณฑิต" มีตัวย่อคือ "Dr" โดยใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็ก ไม่ใช่ "DR" ตามที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้ง "DR" เป็นคำสามัญทั่วไป ไม่ใช่ชื่อเรียกสามัญของสินค้าจำพวกน้ำดื่ม น้ำอัดลมหรือน้ำหวานที่โจทก์ขอจดทะเบียน ความหมายของอักษรโรมันดังกล่าวจึงไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียน ดังนั้น อักษรโรมัน "DR" จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ไม่อาจจดทะเบียนได้และมีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยโจทก์ไม่ต้องปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะและแตกต่างจากสินค้าอื่น การตกแต่งเล็กน้อยไม่เพียงพอ
เครื่องหมายการค้าอันพึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจะต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำถือว่าเป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า "เครื่องหมาย" ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างสินค้าของบุคคลอื่น ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 4 ได้ แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะทรงรี แม้จะมีการตกแต่งให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่น ทั้งโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "MAGGI" หรือคำว่า "แม็กกี้" จึงไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าได้หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์อันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "TIMEWALKER" ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะสื่อถึงลักษณะสินค้าโดยตรง
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แม้ว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุด ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้คำว่า "TIMEWALKER" จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบว่า คำว่า "TIMEWALKER" เป็นการนำเอาคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่ โจทก์แปลคำดังกล่าวว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ซึ่งเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าคำนั้นสามารถแปลความหรือสื่อความหมายได้ หาใช่เป็นคำประดิษฐ์หรือคำใหม่ที่ไม่มีความหมาย และการแปลความของโจทก์ก็เป็นการแปลจากคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" นั่นเอง เมื่อพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "TIME" ว่าหมายถึง เวลา และคำว่า "WALKER" หมายถึง การเดิน ผู้เดิน หรือผู้ชอบเดิน คำว่า "TIMEWALKER" จึงอาจสื่อถึงความหมายได้หลายประการ การที่โจทก์แปลความว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ก็อาจเป็นไปได้ตามความมุ่งหมายของโจทก์ และขณะเดียวกันคำว่า "TIMEWALKER" ก็สื่อถึงความหมายว่า ผู้เดินเวลา หรือเครื่องมือที่เดินตามเวลา ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงนาฬิกาซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลาได้เช่นกัน เมื่อโจทก์นำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก และนาฬิกาแขวน จึงถือได้ว่าคำว่า "TIMEWALKER" เป็นคำที่บรรยายลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกนาฬิกาของโจทก์อันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๒) คำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันจะพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖