คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปฏิบัติตามกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองต้องให้สิทธิคู่กรณีทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งได้ แม้เป็นงานนโยบายก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
การพิจารณาพิพากษาคดีปกครองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในระบบไต่สวน ซึ่งมุ่งหมายให้ศาลทำหน้าที่ค้นคว้าหาความจริงและตรวจสอบการพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นมีข้อความว่าคู่ความประสงค์ให้ศาลวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539มาตรา 3,4,5 และมาตรา 37 หรือไม่ โดยมิได้กล่าวถึงมาตรา 30 ที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง แต่เมื่อคำนึงถึงความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์แล้วย่อมเห็นได้ว่าโจทก์มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบการพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ 1 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องถือว่าโจทก์ยังประสงค์ให้ศาลพิจารณาและวินิจฉัยว่าการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 30 หรือไม่ และถือไม่ได้ว่าเป็นการสละประเด็นข้อนี้
งานทางนโยบายของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหมายถึงงานในส่วนที่เป็นการกำหนดทิศทางหรือการพิจารณาสั่งการเพื่อให้เป็นตามเป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน มิใช่งานที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการตามปกติ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 16 ไม่อนุญาตให้โจทก์เข้ามาในราชอาณาจักร จึงมิใช่การปฏิบัติงานทางนโยบายโดยตรงตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 4(3) ทั้งไม่ใช่งานเกี่ยวกับราชการทหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธการร่วมกับทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรตามมาตรา 4(7) แต่เป็นการพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 4(3) และ (7) จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 30 เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาและออกคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ให้โอกาสโจทก์ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อมูลที่จำเลยที่ 1 อาศัยเป็นเหตุในการออกคำสั่งก่อน จึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและอาจถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมฎีกา ทำให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้
ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 229 บัญญัติบังคับไว้ว่าผู้ฎีกาต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับฎีกานั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฎีกาโดยไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นค่าทนายความที่โจทก์ต้องใช้แทนจำเลยชั้นอุทธรณ์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกาย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ได้ทันที การวางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายหลังที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์แล้ว ย่อมไม่มีผลทำให้ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายอันควรรับไว้พิจารณา
ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 229 บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์ผู้ฎีกาจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดอันเป็นการบังคับ โดยไม่มีบทกฎหมายบัญญัติเปิดช่องไว้เป็นอย่างอื่นเพื่อให้พิจารณาถึงการไม่มีเจตนาหรือจงใจของผู้ฎีกาเจ้าหน้าที่ศาลคงมีหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะในเรื่องค่าขึ้นศาลว่าโจทก์ผู้ฎีกาชำระถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากชำระไม่ถูกต้องครบถ้วนเจ้าหน้าที่ศาลดังกล่าวมีหน้าที่เรียกให้โจทก์ผู้ฎีกาชำระให้ครบถ้วน แต่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางศาลเพื่อชำระแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ย่อมล่วงรู้และอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ผู้ฎีกาจะต้องดำเนินการเองโจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ศาลมาเป็นเหตุแก้ตัวในความผิดพลาดบกพร่องของตนได้
กรณีไม่นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมกับฎีกา ไม่ใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ซึ่งศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์วางค่าธรรมเนียมเสียก่อนและสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6829/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจผู้รับมอบอำนาจกับการเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลไม่อาจเพิกถอนหากเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามกฎหมาย
การที่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ดำเนินการยื่นขอซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเกินขอบอำนาจที่โจทก์ได้ให้ไว้เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจซึ่งไม่มีใครสามารถล่วงรู้ และถ้าหากความจริงจะปรากฏตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่ผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์โดยส่วนตัว เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกับผู้รับมอบอำนาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หาได้เป็นเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ เพราะกฎหมายกำหนดเหตุที่จะ อ้างเพื่อเพิกถอนการขายทอดตลาดไว้ว่า ต้องเป็นกรณีที่ ต้องด้วยมาตรา 296 วรรคสอง แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ตามคำร้องโจทก์อ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินขอบเขตอำนาจแล้วมาขอเพิกถอน ดังนี้ จึงไม่มีข้อที่ศาล จะยกขึ้นมาอ้างว่าการขายทอดตลาดมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ แก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ที่จะยกมาเป็นเหตุให้เพิกถอน การขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8292/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การนำสืบพยานหลักฐาน การปฏิบัติตามกฎหมายภาษี และการลดเบี้ยปรับ
บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(1)(ข)หรือผู้แทนย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อ ม. รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รายนี้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีต้องถือว่าเป็นการกระทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่กฎหมายบัญญัติหาใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้แทนไม่ เพราะหากผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้มอบหมายให้ผู้ใดเป็นผู้แทนกระทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้แทนได้อย่างไรจึงต้องถือว่าผู้แทนได้กระทำในนามของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คนหนึ่งตามกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นตำแหน่งหน้าที่ราชการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ขณะออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์เมื่อวันที่23 กรกฎาคม 2534 นั้น มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่า ถ้าภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน คดีนี้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.50 รอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 เมื่อนับถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ซึ่งเป็น วันออกหมายเรียกยังไม่เกิน 5 ปี เจ้าพนักงานประเมินย่อมมี อำนาจออกหมายเรียกเพื่อไต่สวนได้ แม้ต่อมาจะมีการแก้ไข บทบัญญัติดังกล่าวว่า การออกหมายเรียกข้างต้นจะต้องกระทำ ภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการโดยมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไปก็ตาม หาทำให้การ ออกหมายเรียกซึ่งกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นกลับกลาย เป็นหมายเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกับหมายเรียกก่อนหน้านั้น การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินรายนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบ ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2536 ข้อ 21 กำหนดให้ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบรีบดำเนินการตรวจสอบให้ แล้วเสร็จโดยเร็วกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบเกิน 1 ปีภาษี หรือรอบระยะเวลาบัญชีให้แล้วเสร็จอย่างช้าไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันออกหมายเรียกก็ดี แต่ยังมีข้อยกเว้นว่า หากตรวจสอบ ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็จะต้องชี้แจงเหตุผล เพื่อขออนุมัติขยายเวลาจนถึงวันที่ 23 มกราคม 2538 การที่ เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีรายนี้ ในวันที่ 23 มกราคม 2538 จึงชอบแล้ว ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายเวลายื่นรายการ การชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 เป็นกรณีให้โอกาสแก่ผู้มีหน้าที่ ยื่นรายการ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งยังมิได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรไว้ ไม่ครบถ้วน หรือมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ หรือหักไว้ ไม่ครบถ้วนหรือมิได้นำส่งภาษีอากรให้ครบถ้วน ได้มีโอกาส ยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรให้เป็นการ ถูกต้องต่อไปโดยผู้นั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และไม่ต้องรับผิดทางอาญา สำหรับภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือ นำส่งเท่านั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังยื่นรายการและชำระภาษีอากร หรือนำส่งภาษีอากรไม่ถูกต้องแล้ว ภาษีอากรในส่วนที่ ไม่ถูกต้องก็จะไม่ได้รับประโยชน์ตามประกาศข้างต้น หาใช่ เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ก่อนหน้านั้น และได้ยื่นชำระภาษีเพิ่มเติมตามประกาศนี้แล้ว ก็เป็นอันพ้นผิดไม่ต้องถูกเรียกตรวจสอบประเมินภาษีใหม่ ในภายหลังอีกดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ โจทก์ไม่มีบัญชีคุมสินค้ามาแสดงเพื่อเป็นหลักฐานตรวจสอบเปรียบเทียบในชั้นตรวจสอบภาษีตลอดจนชั้นพิจารณาของศาล เจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณหายอดขายสินค้าตาม หลักการทางบัญชีด้วยการนำสินค้าคงเหลือต้นงวดยกมาบวก ยอดซื้อสินค้าระหว่างปีหักด้วยยอดสินค้าคงเหลือปลายงวด จำนวนที่ได้ก็คือยอดสินค้าที่ขายไประหว่างปี ซึ่งหลักเกณฑ์ ดังกล่าวแล้วโจทก์ก็ยอมรับว่าถูกต้องสำหรับต้นทุนสินค้า เจ้าพนักงานประเมินก็ใช้วิธีคำนวณตามหลักฐานการสั่งซื้อ สินค้าหักด้วยส่วนลดรับตามงบกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชี ของโจทก์ ทั้งนี้ เนื่องจากส่วนลดที่โจทก์ได้รับจากผู้ขาย สินค้าเป็นเพราะโจทก์ชำระเงินค่าสินค้าภายในเวลาที่กำหนด ไว้ล่วงหน้า และส่วนลดจากการขายสินค้าได้ตามเป้าที่ผู้ขาย กำหนด จึงมิใช่ส่วนลดที่โจทก์ได้รับทันทีที่โจทก์ซื้อสินค้า นั้น กรณีจะนำส่วนลดรับมาหักจากราคาสินค้าตามใบสั่งซื้อ ทันที แล้วถือเป็นราคาต้นทุนสินค้าย่อมไม่ถูกต้อง เพราะหาก คิดหักส่วนลดรับตั้งแต่โจทก์ซื้อสินค้าให้ครั้งหนึ่งก่อนแล้ว ยังมาคิดหักตามงบกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์ให้อีก ย่อมเป็นการซ้ำซ้อน การที่เจ้าพนักงานประเมินนำส่วนลดรับจากการซื้อสินค้าตามงบกำไรขาดทุนในรอบ ระยะเวลาบัญชีของโจทก์มาหักให้จากยอดขายสินค้าซึ่งเป็น การหักบัญชีครั้งเดียว จึงถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ดังนั้นการคำนวณต้นทุนสินค้าของเจ้าพนักงานประเมินย่อม ถูกต้องเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว การขายสินค้าของโจทก์ตามใบเสร็จรับเงินในช่องรายการ สินค้าแต่ละประเภทแต่ละรุ่นของสินค้า มีทั้งให้รายละเอียด ของสินค้าแต่ละรุ่นที่ขายและไม่ให้รายละเอียดของชนิดและ รุ่นของสินค้าแต่ละประเภทที่ขาย จึงไม่สามารถหายอดขายจาก จำนวนหน่วยของสินค้าที่ขายไป โดยวิธีตรวจสอบจากยอดสินค้า คงเหลือต้นงวดยกมาบวกยอดซื้อสินค้าระหว่างปีหักด้วยยอดขายสินค้าตลอดปีจะได้ยอดคงเหลือเป็นสินค้าปลายงวด(จำนวนหน่วยของสินค้า) จริงเท่าใด เจ้าพนักงานประเมินได้ ใช้วิธีแยกสินค้าแต่ละประเภท โดยไม่อาจแยกจำนวนรุ่นของ สินค้าได้และการจำหน่ายสินค้าใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) เมื่อปรากฏกรณีจำนวนสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมีจำนวนมากกว่า ยอดขายตามใบเสร็จรับเงินและไม่ปรากฏยอดสินค้าคงเหลือปลายปี ในแบบ ภ.ง.ด.50 ถือว่าโจทก์ขายสินค้าโดยไม่ลงบัญชีขายและ คิดคำนวณราคาขายตามใบเสร็จรับเงินของสินค้าชนิดนั้น ๆ แต่ถ้าสินค้าที่มีไว้เพื่อขายแต่ละชนิดไม่ปรากฏยอดขาย อยู่ในใบเสร็จรับเงินและไม่ปรากฏยอดสินค้าคงเหลือปลายปีในแบบ ภ.ง.ด.50 ถือว่าโจทก์ขายสินค้าโดยไม่ลงบัญชีขายและ คิดคำนวณราคาขายตามราคาที่โจทก์ซื้อสินค้ามาก่อนหัก ส่วนลดรับ โดยไม่บวกกำไรขั้นต้นแต่อย่างใด ทำให้ราคาขาย ที่ประเมินจะเท่ากับราคาซื้อก่อนหักส่วนลดรับจึงเป็นธรรม แก่โจทก์แล้ว โจทก์อ้างว่าโจทก์มีรายจ่ายค่าสังกะสี ปูนซีเมนต์กระเบื้องเคลือบและอิฐมอญ รวม 141,142 บาท อันเนื่องมาจากการรับติดตั้งเสาอากาศโทรทัศน์นั้น เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีว่าโจทก์ยังมีเงินได้จากการขายเสาอากาศโทรทัศน์ ไม่มีการรับจ้างติดตั้งเสาอากาศโทรทัศน์ ลูกค้าผู้ซื้อได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้ติดตั้งเอง ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีรายจ่ายดังกล่าวและมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการ แต่ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ประกอบกิจการขายสินค้า โจทก์จะต้องจัดทำบัญชีคุมสินค้าและต้องเก็บรักษาไว้ที่สถานการค้าหรือสถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 5(1) ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 13และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 ตรี แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติ ตามที่กฎหมายบัญญัติอันเป็นความผิดต้องรับโทษตามกฎหมายโจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างประโยชน์อันใดเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ อีกทั้งโจทก์อ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ภาระการพิสูจน์ย่อมตก แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นดังข้ออ้างได้การที่เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณต้นทุนราคาสินค้ารายได้และรายจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532จึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีบัญชีคุมสินค้ามาแสดงเพื่อเป็นหลักฐานตรวจสอบทั้งการขายสินค้าบางรายการไม่มีใบเสร็จรับเงิน ส่อแสดงว่าโจทก์ขายสินค้าโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงินหรือมีการลงบัญชีขายสินค้า ไม่ครบถ้วนอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ย่อม ก่อความยุ่งยากแก่การตรวจสอบให้ถูกต้องได้ กรณีเป็นเรื่อง ที่โจทก์จะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด มิฉะนั้น จะเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงภาษีได้โดยง่าย แม้การตรวจสอบ จะใช้เวลายาวนาน แต่ย่อมขึ้นอยู่กับความยากง่ายและมี เอกสารหลักฐานอย่างพร้อมมูลด้วย ประกอบกับการตรวจสอบ ปรากฏว่า โจทก์บันทึกยอดขายสินค้าไว้ต่ำคิดเป็นเงิน จำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ ชำระเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย นับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่มากแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและการนำผลขาดทุนสะสมมาหักลดหย่อน ต้องมีหลักฐานสนับสนุนและปฏิบัติตามกฎหมาย
แม้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้แก่ผู้ฝากประจำจะไม่เกินร้อยละ 12ต่อปี แต่ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้าเงินจ่ายให้แก่ผู้ฝากประจำ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกจากผู้กู้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดสำหรับการให้กู้ยืมเงิน เมื่อโจทก์กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โดยเสียดอกเบี้ยอัตราสูงถึงร้อยละ 21 ต่อปี จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมให้บุคคลอื่นกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ13.5 ต่อปี โดยยอมขาดทุนดอกเบี้ยเป็นจำนวนมากเช่นนี้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) โดยประเมินในอัตราเดียวกันกับดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว และในชั้นพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์คงเหลือร้อยละ 15 ต่อปีก็เป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว
โจทก์หลีกเลี่ยงไม่นำบัญชีและเอกสารไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนและเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว โดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 จำนวนเงินค่าภาษีที่โจทก์ต้องเสียตามที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บเพิ่ม จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งตามกฎหมายโจทก์จะต้องชำระอยู่แล้ว มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้ขาดทุนตามที่ยื่นรายการไว้ โจทก์จึงจะนำเอาผลขาดทุนสุทธิที่แสดงไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในปีต่อไปหาได้ไม่
เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์เป็นการปฏิบัติตามบทกฎหมายซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินด้วยวิธีดังกล่าวได้เมื่อมิใช่เป็นการประเมินโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิที่แตกต่างไปจากที่ได้ยื่นรายการไว้เดิมอันเจ้าพนักงานประเมินจะต้องมีคำสั่งแจ้งการประเมินเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิให้โจทก์ทราบตามมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใดไม่ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านการขายทอดตลาดต้องอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามกฎหมายไม่ถูกต้อง มิใช่แค่ราคาขายต่ำ
ตามคำร้องของจำเลยมิได้กล่าวอ้างเลยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 วรรคสองเพียงแต่กล่าวอ้างว่าโจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันเข้าสู้ราคาโดยไม่สุจริต สมคบกันกดราคาซื้ออันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้จำเลยเสียหายเท่านั้น ซึ่งมิได้เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำสั่งของจำเลยเสียได้โดยไม่จำต้องไต่สวนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3555/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับเวลาราชการต่อเนื่องหลังลาออกและกลับเข้ารับราชการใหม่: การปฏิบัติตามมาตรา 30 พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
แม้การขอกลับเข้ารับราชการใหม่กับการบอกเลิกรับบำนาญจะเป็นคนละเรื่องกันแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ยื่นเรื่องทั้งสองดังกล่าวพร้อมกันทั้งตามบทบัญญัติในมาตรา30วรรคสี่และวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ.2494ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นไว้ว่าจะต้องยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญตั้งแต่เมื่อใดการที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญพร้อมกับการยื่นหนังสือขอกลับเข้ารับราชการใหม่โดยไม่รอให้กรมเจ้าสังกัดมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการใหม่เสียก่อนก็หาขัดต่อมาตรา30วรรคสี่ไม่ มาตรา30วรรคห้าบัญญัติเพียงว่าการบอกเลิกรับบำนาญให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานส่งไปยังกระทรวงการคลังโดยผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดมิได้กำหนดว่าต้องยื่นต่อกองคลังในกรมและกระทรวงเจ้าสังกัดดังนั้นการที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพภายในกรมและกระทรวงเจ้าสังกัดของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการยื่นผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดแล้วโจทก์จึงได้ปฏิบัติตามมาตรา30วรรคห้าแล้วจำเลยทั้งสองจึงต้องนับเวลาราชการช่วงแรกของโจทก์รวมกับเวลาช่วงที่โจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่เพื่อคำนวณบำนาญให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 100/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีเช่าที่ดินต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.เช่าที่ดินฯ ก่อน จึงจะชอบด้วยกฎหมาย
การที่ผู้เช่านาจะฟ้องคดีขอให้ผู้รับโอนโอนนาที่เช่าให้แก่ผู้เช่าตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 โดยผู้เช่าอ้างว่าผู้ให้เช่าขายนาที่เช่าไปโดยไม่แจ้งให้ผู้เช่าทราบนั้น ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน กล่าวคือ ต้องมีการร้องขอต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเพื่อวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว หากผู้เช่าไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล ก็ต้องอุทธรณ์ต่อไปยังคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดเพื่อวินิจฉัย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อคณะ-กรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจอยู่อีก ผู้เช่าจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลหรือฟ้องศาลได้ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังได้กล่าวข้างต้น จึงเป็นการฟ้องคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฎีกาโต้แย้งเฉพาะประเด็นเรื่องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524หรือไม่เท่านั้น แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลสำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายซึ่งโจทก์มิได้ฎีกามาด้วย จึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมาไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5353/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายหนี้สูญและการหักค่าใช้จ่ายทางภาษี การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและขอบเขตการพิสูจน์
หนี้ที่จะนำไปจำหน่ายเป็นหนี้สูญในการคำนวณกำไรสุทธินั้นต้องปรากฏว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 29ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งต้องพิจารณาตามสภาพของกิจการที่ประกอบอยู่ว่าสมควรจะทำได้เพียงใดหนี้ของโจทก์เกิดจากการขายลดเช็คและทรัสต์รีซีท ลูกหนี้บางรายโจทก์ดำเนินคดีอาญาหรือฟ้องคดีแพ่งบางรายมิได้ฟ้องคดีเนื่องจากหนี้มีจำนวนเล็กน้อยไม่คุ้มค่าใช้จ่ายแต่โจทก์ได้ให้คนติดตามทรัพย์สินของลูกหนี้ปรากฏว่าไม่มีที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ จึงไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีสำหรับรายที่ศาลพิพากษาแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว จะนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นภายหลังมาเป็นตัวกำหนดเจตนารมณ์ในการแปล กฎหมายที่ใช้อยู่เดิมเพื่อเป็นการเพิ่มภาระของผู้เสียภาษีย่อมไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะจำหน่ายหนี้เหล่านั้นเป็นหนี้สูญในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โจทก์ทำหลักทรัพย์ขาดบัญชีโดยความบกพร่องหรือผิดพลาดในการบริหารงานของโจทก์ ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าเป็นหุ้นที่ซื้อจากผู้ใด จำนวนกี่หุ้น เป็นเงินเท่าใด ได้รับมาครบถ้วนหรือไม่แม้โจทก์จะมีผู้สอบบัญชีอนุญาตตรวจรับรองว่าโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวซื้อหลักทรัพย์มาทดแทนส่วนที่หายไปก็ตาม ไม่ใช่เป็นกรณีจำหน่ายหนี้สูญตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) แต่ถือว่าเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา65 ตรี(18).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้รับโอนประทานบัตรเหมืองแร่ในการปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศราชการ แม้หลุมบ่อมีอยู่ก่อน
จำเลยรับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรจาก ส. ขณะที่รับโอนมีบ่อหลุมตามฟ้องอยู่ในโรงแต่งแร่อยู่แล้ว และรับโอนมาภายหลังจากที่ประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ตพังงา ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2528) เรื่องการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ โดยกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ว่า สภาพของอาคารซึ่งใช้ในการเก็บแร่หรือมีแร่ไว้ในครอบครองของเหมืองจะต้องมีพื้นอาคารเทคอนกรีตและไม่มีห้องหรือหลุมใต้ดินในบริเวณอาคารและไม่มีห้องหรือหลุมใต้ดินที่พื้นนั้น การที่อาคารโรงแต่งแร่ของจำเลยมีบ่ออยู่ใต้พื้นซีเมนต์ถึง 3 บ่อ และเจ้าพนักงานได้ค้นพบแร่ดีบุกของกลางเก็บซ่อนไว้ในบ่อนั้น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง จำเลยจะอ้างว่าบ่อดังกล่าวมีมาก่อนที่จำเลยจะรับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรไม่ได้ เพราะจำเลยได้รับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรมาแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องจัดการแก้ไขและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของทางราชการ มิฉะนั้นก็จะเป็นทางให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายและประกาศดังกล่าวด้วยการโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรกันได้.
of 3