คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกันภัยซ้อน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9520/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยซ้อน: หน้าที่แจ้งการเอาประกันภัยเพิ่ม และผลกระทบต่อความรับผิดของผู้รับประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยอาจทำสัญญาประกันภัยเป็นหลายรายในวัตถุเดียวกันได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งฝ่ายผู้รับประกันภัยจัดทำขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีสัญญาประกันภัยต่อกัน
ตามกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดเงื่อนไขการรับประกันภัยว่า "ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบถึงการประกันภัยซึ่งได้มีไว้แล้วหรือที่จะมีขึ้นภายหลังในทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้นี้กับบริษัทประกันภัยอื่น เว้นแต่ได้มีการแจ้งข้อความจริงดังกล่าวและผู้รับประกันภัยได้บันทึกซึ่งรายการประกันภัยนั้นไว้ในกรมธรรม์ฉบับนี้ก่อนการเกิดสูญเสียหรือการเสียหายนั้น มิฉะนั้นผู้รับประกันภัยจะพ้นจากความรับผิดอันจะพึงมีขึ้นตามกรมธรรม์ฉบับนี้" จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่เอาประกันภัยทรัพย์สินไว้แก่ผู้รับประกันภัยไปเอาประกันภัยเพิ่มแก่บริษัทประกันภัยอื่น จะต้องแจ้งข้อความจริงนั้นให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะต้องให้ผู้รับประกันภัยบันทึกรายการประกันภัยเพิ่มนั้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยด้วย การไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้งสองประการย่อมมีผลทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
ป.วิ.พ. มาตรา 161 และ มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยและศาลอุทธรณ์ก็มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยซ้อน และหลักการชดใช้ค่าเสียหายจริง
คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2
บริษัท บ. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส. จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส. โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)