คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกันภัยสินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลและการประกันภัยสินค้า: การรับช่วงสิทธิและข้อยกเว้นความรับผิด
ผู้ขายได้รับค่าสินค้าที่ขนส่งและได้โอนใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งแล้ว บริษัท อ. จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นได้ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้นแล้ว แม้จะฟังว่าการซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบซีไอเอฟ ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่นซึ่งมิใช่โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลแบบเปิด และเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเลขที่ 10170 จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัท ช. ก็ตาม แต่ตามกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ไว้ในข้อ 02.1 โดยได้กล่าวถึงผู้ถือกรมธรรม์ว่าคือบริษัท ช. และระบุว่าผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 50 หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการตามภาคผนวก 1 อันแสดงว่านอกจากบริษัท ช. จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ 50 หรือมีบริษัทอื่นที่บริษัทนั้นเป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัย
สาเหตุแห่งความเสียหายเป็นผลมาจากการยกหีบไม้โดยไม่เอาใจใส่และไม่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งดังกล่าวจึงเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวน ไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจำนวนเพียง 10,000 บาทต่อ 1 หน่วยการขนส่ง ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3343/2541 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยสินค้าและการไม่ถือว่าสินค้าสูญหายหรือเสียหาย แม้ผู้ซื้อยังไม่ชำระราคา
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 883 และตามกรมธรรม์ประกันภัยมุ่งประสงค์จะคุ้มครองวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ของที่ขนส่ง ในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไปจนได้ส่งมอบของนั้นให้แก่ผู้รับตราส่ง คือการคุ้มครองบรรดาความเสี่ยงภัยทั้งหลายที่เป็นการสูญหายหรือเสียหายทุกประเภทที่มีต่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้นั่นเองเมื่อปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งไปถึงประเทศอุรุกวัยอันเป็นจุดหมายปลายทางโดยปลอดภัย โดยไม่มีการสูญหายหรือเสียหาย และผู้ซื้อก็ได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว แม้ผู้ขนส่งจะได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไป โดยผู้ซื้อมิได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคารผู้รับตราส่งก่อนตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายหรือเสียหายตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย อันจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นเพียงนายหน้าชี้ช่องให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากันเมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัย และโจทก์ยอมชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 848 แล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4754/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในสัญญาประกันภัยสินค้าและการรับผิดของผู้ขนส่งทอดสุดท้าย
การที่บริษัทเอผู้ขายและผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลได้รับชำระราคาสินค้านั้นแล้วได้ส่งใบตราส่งใบกรมธรรม์ประกันภัยใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อไปให้บริษัทบีย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของบริษัทเอว่าประสงค์จะโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปให้บริษัทบีแล้วและเมื่อปรากฎว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายบริษัทบีก็ได้ทวงถามให้จำเลยซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายแต่จำเลยเพิกเฉยจึงทวงถามโจทก์ผู้รับประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทบีไปย่อมทำให้เชื่อว่าบริษัทเอผู้เอาประกันภัยได้บอกกล่าวการโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปยังโจทก์ผู้รับประกันแล้วมิฉะนั้นย่อมไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทบี ฉะนั้นสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมโอนไปยังบริษัทบี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา875วรรคสองเมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้บริษัทบีโจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวได้ การที่จำเลยขอนำเรือเข้าติดต่อขอเช่าเรือลากจูงนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อกรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทยและการที่จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าพิพาทเห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้รับตราส่งซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการรับขนของทางทะเลในขณะเกิดเหตุข้อพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5312/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอฟ.โอ.บี. และการประกันภัยสินค้า: ผู้ขายรับผิดชอบการขนส่งถึงท่าเรือต้นทาง, กรมธรรม์คุ้มครองชั่วคราวไม่ครอบคลุมการขนส่งทางรถไฟ
โจทก์สั่งซื้อสินค้าพิพาทจากผู้ขายในราคาเอฟ.โอ.บี.(FreeonBoard)ที่ท่าเรือต้นทางดังนั้นการขนส่งสินค้าพิพาทจากหน้าโรงงานของบริษัทผู้ขายโดยทางรถไฟไปยังท่าเรือ ซีแอทเทิลจึงอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทผู้ขายจำเลยที่1ไม่ได้ตกลงรับขนส่งสินค้าพิพาทจากโจทก์ในเส้นทางดังกล่าวจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ จำเลยที่2ได้ตกลงกับโจทก์โดยชัดแจ้งถึงเส้นทางที่จำเลยที่2รับประกันภัยสินค้าพิพาทว่าเริ่มต้นตั้งแต่ท่าเรือในประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าการคุ้มครองภัยต้องเริ่มตั้งแต่ท่าเรือต้นทางที่สินค้าขนลงเรือแล้วอีกทั้งการขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟจากเมือง ซินซินเนติถึงท่าเรือเมือง ซีแอทเทิล สินค้าพิพาทอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขายและยังไม่ได้มีการขนส่งสินค้าลงเรือโจทก์จึงยังไม่มีส่วนได้เสียในสินค้าพิพาทขณะเกิดวินาศภัย แม้การประกันภัยสินค้าพิพาทเป็นการประกันภัยทางทะเลแต่การที่จำเลยที่2ออกกรมธรรม์คุ้มครองชั่วคราว(Covernote)โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อสินค้าถึงเรือและนำสินค้าลงเรือแล้วจำเลยที่2จะต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับจริงให้โจทก์อีกครั้งหนึ่งก็เป็นกรณีที่จำเลยที่2รับประกันภัยล่วงหน้าที่ยังไม่สามารถพิจารณาประกันภัยได้ในขณะนั้นการที่จำเลยที่2ออกกรมธรรม์คุ้มครองชั่วคราว(Covernote)ให้โจทก์จึงมิใช่จำเลยที่2รับประกันภัยสินค้าพิพาทระหว่างขนส่งทางรถไฟแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4830/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เอาประกันภัยแม้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ, การรับประกันภัยสินค้า, และข้อยกเว้นความรับผิดจากเหตุสุดวิสัย
ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆ ซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายและความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องขนส่งสินค้าที่ขายจากกรุงเทพมหานครไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์ โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าไว้กับจำเลย โดยมิต้องคำนึงถึงว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ เมื่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ได้ จำเลยให้การรับว่าโจทก์เอาประกันภัยสินค้าดังปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้องจริง แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเพราะสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมิได้กล่าวว่าสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นไม่ใช่สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยอย่างไรเพราะเหตุใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำสืบตามคำให้การในส่วนนี้ ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 จะต้องเป็นของผู้เอาประกันภัยเองหรือเป็นของผู้รับประโยชน์จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด แต่ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่น ๆ แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัย มีใจความว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ จะต้องไม่ถือว่าการประกันภัยนี้ขยายไปคุ้มครองการสูญเสีย การเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายอันมีต้นเหตุอย่างใกล้ชิดจากความล่าช้านั้น มีความหมายถึงความล่าช้าที่เป็นเหตุโดยตรงให้สินค้าที่เอาประกันภัยไว้เสียหายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าเหตุที่สินค้าที่เอาประกันภัยเกิดความเสียหายเนื่องมาจากการระเบิดในห้องเครื่องยนต์ของเรือ หาใช่เกิดจากความล่าช้าในการขนส่งไม่ผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับขนส่งหลายทอดและช่วงสิทธิจากประกันภัยสินค้า
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ผู้รับตราส่งได้นำใบตราส่งพร้อมหลักฐานอื่นไปขอออกสินค้าลูกปืนและตลับลูกปืนที่สั่งซื้อจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วสิทธิของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนสินค้ารายนี้ย่อมตกได้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้านั้นได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ไปย่อมได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องผู้รับขนผู้ก่อความเสียหายแก่สินค้ารายนี้ได้
จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้รับสินค้าในใบตราส่ง เมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงประเทศไทย บริษัทตัวแทนเรือในต่างประเทศได้แจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดร. ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขออนุญาตนำเรือเข้าเทียบท่า และเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดร.ไปรับสินค้าจากคลังสินค้า ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1มีลักษณะร่วมกันขนสินค้ารายนี้อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้นผู้ขนส่งต้องรับผิดร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา618
แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ผู้ควบคุมการเดินเรือของประเทศสหภาพโซเวียต โดยได้รับค่าตอบแทนตามอัตราสินค้าเข้าและสินค้าออกของค่าระวาง แต่ในคดีนี้เรือบรรทุกสินค้าของประเทศสหภาพโซเวียตมิได้เข้ามาในประเทศไทย โดยได้ขนถ่ายสินค้ารายนี้ให้สายการเดินเรืออื่นทำการขนส่งอีกทอดหนึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมดำเนินการขนส่งหรือได้ผลประโยชน์ในการขนส่งสินค้ารายนี้ ดังนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมขนส่งด้วยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.