คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกาศกระทรวง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8066/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระบุเวลาเกิดเหตุชัดเจน และไม่จำเป็นต้องอ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุขหากกฎหมายได้ระบุประเภทของยาเสพติดไว้แล้ว
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติให้บรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ระบุว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าเกิดการกระทำความผิดในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ชัดแจ้งและทำให้จำเลยเข้าใจได้ดียิ่งกว่าบรรยายว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนเสียอีก จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีกัญชาแห้งอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 (5) ได้บัญญัติไว้แล้วว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงไม่จำเป็นต้องอ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่องการระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกเก็บเงินประกันการทำงานชอบด้วยกฎหมาย หากเข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และประกาศกระทรวงแรงงาน
อ. เป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานได้อ. ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33 บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกัน ซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกันคิดเป็นเงิน 13,999.80 บาท การที่โจทก์หักค่าจ้างของ อ. ไว้เป็นเงินประกัน 9,415 บาท และโจทก์ได้นำเงินไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อันเป็นสถาบันการเงินในนาม อ. จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ อ. ทราบ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันที่โจทก์เรียกเก็บโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 849/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ต้องพิจารณาลักษณะงานตามประกาศกระทรวงฯ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสาม และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง"หมายความว่า การจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งนายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างนั้นการจ้างดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่มีลักษณะงานตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติข้างต้น ส่วนงานที่โจทก์ทำมิได้มีลักษณะงานประเภทใดประเภทหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 1 ปีตามสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายเก้าสิบวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 และมาตรา 8 (1) ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษประกาศให้ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษประกาศให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบิกษาแล้ว จึงมีผลใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 เช่นกฎหมาย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน, การใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่สุจริต, และการตีความ 'ทุจริต' ตามประกาศกระทรวงแรงงาน
โจทก์แพ้คดีและต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างโจทก์ตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานจำเลยตามคำพิพากษาศาลแรงงานในคดีนี้แล้ว แต่โจทก์กลับมาอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง อันจะมีผลให้โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลแรงงานเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่สุจริต ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)ที่บัญญัติให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้าง ทุจริตต่อหน้าที่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้ให้ความหมาย คำว่า "ทุจริต" ไว้ และมิได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) กรณีจึงต้องใช้ความหมาย คำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือ หมายความว่า ความประพฤติชั่วโกงไม่ซื่อตรง
ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ 190 บาทละทิ้งงานไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แม้ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาที่ ส. ละทิ้งงาน แต่ก็เกิดโทษแก่นายจ้างน้อย ยังไม่พอถือว่า ส. มีความประพฤติชั่ว โกง หรือไม่ซื่อตรง จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับขี่หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนสถานะยาเสพติด ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
ขณะที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 และฉบับที่ 135ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไป และระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อการเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับรถในขณะขับรถไม่อาจ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจสั่งให้พักหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้อยู่ในตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปรับบทความผิดจากกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ฯ เป็น พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ หลังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงสถานะยา
ภายหลังจำเลยกระทำผิดแล้วได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่16 ตุลาคม 2539 กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1แม้จะเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ.มาตรา 3 เนื่องจากมีอัตราโทษเบากว่าความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ ก็ตาม การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายอันเป็นความผิดฐานขายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต กับความผิดฐานมีเมทแอมเฟ-ตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นความผิดคนละบทมาตรากัน หามีบทใดเป็นบทเฉพาะแก่กันไม่ เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย และที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ.มาตรา 90 ซึ่งต้องปรับบทความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดด้วย และเมื่อปรากฏว่าภายหลังที่จำเลยกระทำความผิด ได้มีประกาศกระทรวง-สาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันมีผลทำให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ในคดีนี้ไม่เกิน 20 กรัม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ซึ่งมีอัตราโทษที่เบากว่าฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ จึงเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ.มาตรา 3 กรณีจึงต้องปรับบทความผิดตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ด้วย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7252/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลกระทบประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อความผิดฐานเสพยาและขับรถภายใต้ฤทธิ์ยา
จำเลยกระทำความผิดฐานเสพแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และจากนั้นจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อไปตามถนนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518 อีกต่อไป อันเป็นผลให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 157 ทวิวรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความผิด พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ฯ และผลของประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อการกำหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์
พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518ได้ให้บทนิยามคำว่า "วัตถุตำรับ" หมายความว่า สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้ นอกจากนั้นในมาตรา 59ยังได้บัญญัติว่า "ให้ถือว่าวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย" จึงเป็นที่เห็นได้ว่าวัตถุออกฤทธิ์ในความหมายดังกล่าวนั้น นอกจากหมายถึงวัตถุออกฤทธิ์โดยเฉพาะแล้ว ยังหมายรวมถึงสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปร่างลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์ปรุงผสมอยู่ด้วย
ในระหว่างพิจารณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) ซึ่งบังคับใช้อยู่ขณะเกิดเหตุ และกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน0.500 กรัม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าวัตถุออกฤทธิ์ของกลาง น้ำหนักรวม105.10 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดหรือไม่จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2538) เป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538)ไม่มีผลถึงความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิวรรคหนึ่ง, 89 เพราะความผิดฐานนี้ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์อันจะเป็นความผิดไว้
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามมาตรา 89 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ รวมทั้งกำหนดโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 89 ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8737/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่ครอบครองและการเปลี่ยนแปลงประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีผลต่อความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92(พ.ศ. 2538) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85(พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ลงวันที่ 19 มกราคม 2536 และกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 1หรือประเภท 2 เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้ว สำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน 0.500 กรัม เมื่อตามคำฟ้องและตามทางพิจารณาที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าวัตถุของกลางรวมน้ำหนัก 0.740 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดหรือไม่ การที่วัตถุของกลางมีจำนวนเพียง 11 เม็ด รวมน้ำหนัก 0.740 กรัมไม่อาจฟังว่ามีสารบริสุทธิ์เกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92(พ.ศ. 2538) เป็นคุณแก่จำเลยทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2จำนวน 11 เม็ด ไว้ในครอบครองจริง จำเลยก็คงมีความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
of 4