คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกาศอธิบดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่มีเงื่อนไขกรรมสิทธิ์ยังไม่โอน สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้งานในโรงคัดเมล็ดพันธุ์ที่โจทก์ทำกับบริษัท อ. ระบุว่า ผู้ซื้อจะชำระเงินเป็น 4 งวด โดยชำระงวดสุดท้ายเมื่อทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องจักรและติดตั้งให้ผู้ซื้อภายในกำหนดแล้ว โจทก์ต้องออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์และติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรทั้งหมด ตลอดจนทดสอบเครื่องจักรให้ใช้งานได้ดีด้วย โดยสัญญากำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเครื่องจักรไว้ว่า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ส่งมอบจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด ส่วนเงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้ในโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่โจทก์ทำกับบริษัท ร. มีข้อความทำนองเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ซื้อชำระเงินเป็น 3 งวด โดยมีสัญญาระบุว่าเครื่องจักรดังกล่าวจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อย ซึ่งผู้ขายจะต้องทำแบบโครงสร้างและให้คำแนะนำในการติดตั้งเครื่องจักร ทดสอบเดินเครื่องจนใช้งานได้ดี ตลอดจนฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อจนใช้งานเป็นด้วย สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นและมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ข้อ 1 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณภาษีเงินได้กรณีเงินได้จากการออกจากงาน ต้องพิจารณาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้อง
เงินได้ที่โจทก์ได้รับครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานนั้นมีวิธีการคำนวณจ่ายตามระเบียบของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง แตกต่างจากวิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญ การคำนวณหาเงินได้พึงประเมินที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสาม จึงต้องเป็นไปตามข้อ 3ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2)เรื่อง กำหนดระเบียบการคำนวณเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)และ (2) แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานโดยคำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานที่ใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสามแห่ง ป. รัษฎากร.
เงินได้พึงประเมินที่นายจ้าง จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานไม่ว่าจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) หรือ(2) แห่ง ป.รัษฎากรก็ตามก็ต้องนำมาคำนวณหาเงินได้พึงประเมินที่ใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสาม แห่ง ป.รัษฎากรทั้งสิ้น ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2).
คำว่า เงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายและเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ย ของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้(ฉบับที่ 2) หมายความถึงเงินได้ที่ได้รับในระยะเวลาดังกล่าวทั้งหมด มิได้หมายความถึงเฉพาะเงินเดือนซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่ง ป.รัษฎากร เพียงอย่างเดียว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารแล้วโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 3 ปี ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
การที่โจทก์คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยโดยอาศัย ป.รัษฎากร จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้เงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ในขณะรับเงินนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้อันอยู่ในบังคับจะใช้อายุความ 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีที่จำเลยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือระบบถนนยกระดับและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือระบบรถไฟชุมชนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) จำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 82/6 ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/6 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2535 ซึ่งหลักการสำคัญของการเฉลี่ยภาษีซื้อนั้นมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อขอเฉลี่ยภาษีซื้อต่อโจทก์ หากไม่ยื่นแบบแจ้งรายการจะมีผลให้ไม่มีสิทธิขอคืนหรือขอเครดิตภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างดังกล่าว ประกอบกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดนั้นจำเลยต้องแจ้งรายการวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์และแจ้งรายการเกี่ยวกับการเริ่มใช้อาคารไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มใช้อาคารไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะต้องแจ้งภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มใช้อาคารด้วย ดังนั้น เงื่อนไขที่จำเลยจะนำภาษีซื้อเกิดจากการก่อสร้างดังกล่าวมาขอคืนหรือขอเครดิตได้ต้องมีวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์และวันที่เริ่มใช้อาคาร เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกบอกเลิกสัญญาสัมปทาน จึงยังไม่มีวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์และวันที่เริ่มใช้อาคารดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3
สัญญาสัมปทานข้อ 24.1 กำหนดให้บรรดาอาคาร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยก่อสร้างขึ้นในพื้นที่สัมปทาน รวมถึงทางรถไฟ ถนนยกระดับและทางเชื่อมกับถนนที่มีอยู่เดิมตามสัญญานี้ให้ตกเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทันทีที่ก่อสร้าง การโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถือเป็นการขาย และเป็นการขายที่กระทำภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (6) ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเภท 'ยาเสพติด' ที่ใช้บังคับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ต้องมีประกาศอธิบดีกรมตำรวจชัดเจน
ในขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่กระทำความผิดข้อหานี้ได้นั้น นอกจากต้องเป็นผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว ยาเสพติดให้โทษที่ผู้ขับขี่เสพนั้นต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวด้วย เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกฎกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น โดยขณะกระทำผิด อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง