พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3458-3461/2532
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองที่ดินสาธารณะก่อนประกาศ คปท. 96 ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน
แม้ที่ดินที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และจำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9,108 ทวิ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลของประกาศ คปท. ต่อกฎหมายเดิม และการปรับใช้กฎหมายใหม่ในคดีอาญา
แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2548 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีฐานะเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การที่มีประกาศคณะการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า "ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรคคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จึงยังผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) และแม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมาตรา 34 และมาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายที่ได้บัญญัติภายหลังยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิมซึ่งไม่มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งไม่เป็นกรณีต้องนำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมาปรับใช้แก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาแก้ฟ้องฐานฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากประกาศ คปท.ขัดรัฐธรรมนูญ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษทางอาญา อันเป็นการกระทำความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา แต่ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วน หรือไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไป กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่กฎหมายในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง