พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6469/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธุรกิจเงินทุนที่ไม่ได้รับอนุญาต: การกู้ยืมจากบุคคลในเครือไม่ใช่การจัดหาทุนจากประชาชนทั่วไป
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ มาตรา 4 กำหนดให้ "ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้..."ซึ่งกิจการเงินทุนแต่ละประเภทมีการกำหนดวิธีหาเงินทุนไว้ตรงกันคือ "ธุรกิจหาทุนจากประชาชน" ซึ่งหมายความรวมถึงกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ทั้งคำว่า"ประชาชน" ตามพจนานุกรม หมายถึง พลเมืองหรือสามัญชนทั่ว ๆ ไป ดังนั้น ธุรกิจเงินทุนภายใต้ข้อบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นธุรกิจที่มีการจัดหาทุนดำเนินกิจการจากประชาชนพลเมืองทั่วไปไม่มีจำกัดว่าจะเป็นใคร เมื่อปรากฏว่าบริษัทโจทก์จัดหาเงินทุนมาจากบริษัทในเครือหรือจากญาติพี่น้องเฉพาะคนเท่านั้นไม่เป็นการทั่วไป ประกอบกับโจทก์มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินหรือให้เครดิตด้วยวิธีการอื่นได้ ดังนั้นแม้โจทก์จะมิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โจทก์ก็มีอำนาจให้จำเลยกู้เงินได้โดยชอบ สัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1779/2543
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าจนอาจทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน
เครื่องหมายการค้าตามที่ปรากฏบนตัวสินค้าของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน กล่าวคือ ส่วนกลางมีคำว่า "SUPER GLUE" ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนล่างเป็นสีดำมีคำบรรยายเป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษสีขาวว่า " for WOOD - RUBBER - PLASTICS - METAL - PAPER & LEATHER Cyanoacrylate Adhesive NET. 3 g " และส่วนบนมีแถบสีดำ แม้คำว่า "SUPER GLUE" และคำบรรยายที่อยู่ในส่วนล่างทั้งหมดเป็นคำสามัญ ซึ่งในการขอจดทะเบียนโจทก์ได้แสดงปฏิเสธสิทธิว่า ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรคำว่า "SUPER GLUE" และคำบรรยายทั้งหมดก็ตาม แต่รูปลักษณะ ขนาด การจัดวาง ตำแหน่งและทิศทางของตัวอักษร ทั้งหมดดังกล่าว ตลอดจนการให้สีสันของตัวอักษรและสีพื้นเหมือนหรือคล้ายกันจนเกือบจะเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน คงแตกต่างกันแต่คำว่า "ALTECO" กับ "GIANT" ในแถบสีดำส่วนบน ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิใช้คำว่า "GIANT" เพราะเป็นคำสามัญก็ตาม แต่เนื่องจากตัวอักษรมีขนาดเล็ก จำนวนตัวอักษรก็ใกล้เคียงกันคือคำว่า "ALTECO" ประกอบด้วยตัวอักษร 6 ตัว ส่วนคำว่า "GIANT" ประกอบด้วยตัวอักษร 5 ตัว ต่างกันเพียง 1 ตัว และสีของตัวอักษรเป็นสีขาวจัดวางอยู่ในแถบสีดำส่วนบนทำนองเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศอาจหลงเข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน ส่อแสดงว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะทำให้เหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับหลอดกาวมีขนาด รูปร่าง และอยู่ในแผงบรรจุภัณฑ์ลักษณะเช่นเดียวกัน ทั้งยังถูกใช้กับสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์ ดังนั้นย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโฆษณาหลอกลวงต้องเป็นการโฆษณาต่อประชาชนทั่วไป ไม่ใช่บุคคลที่รู้จักกันดี จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
จำเลยทั้งสองโฆษณาหลอกลวงผู้ที่มาเข้าโบสถ์ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ท. สามารถส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศได้แต่บุคคลเหล่านั้นต่างเป็นคนหมู่บ้านหรือท้องถิ่นเดียวกันนับถือศาสนาคริสต์ ด้วยกัน ปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์เดียวกันจำเลยทั้งสองเป็นครูย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้าน การโฆษณาต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งรู้จักจำเลยเป็นอย่างดี ย่อมมิใช่โฆษณาต่อบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าเป็นบุคคลใด จึงยังไม่เป็นการโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2532
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตความผิดตามคำสั่ง คปถ.ฉบับที่ 42: ข่าวต้องกระทบต่อประชาชนทั่วไป ไม่ใช่แค่กลุ่มเฉพาะ
ข่าวมีลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจ หรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6) นั้น หมายถึงข่าวคราวที่มีลักษณะอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว หาใช่ข่าวที่เพียงอาจทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือหวาดกลัวไม่ การที่จำเลยพิมพ์และโฆษณาข้อความโดยพิมพ์พาดหัวหนังสือพิมพ์ประจำวันของจำเลยว่า "ห่วงหลุด เสียเงินหมื่น เลือดไหลไม่หยุดเจ็บปวด ทรมาน" ภายในเนื้อข่าวเป็นเรื่องราวของนาง ว. ซึ่งได้รับการใส่ห่วงยางเพื่อคุมกำเนิดจากโรงพยาบาล อ. เมื่อกลับมาบ้านแล้วรู้สึกเจ็บปวด เลือดไหลอยู่ 4 วัน ครั้นเลือดหยุดก็ยังมีอาการปวดอยู่ นาง ว. ต้องไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลอื่น และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลถึง 14,000 บาท ข้อความตามข่าวมิใช่ความเท็จ หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งมีลักษณะเป็นข่าวอยู่ในวงเฉพาะสตรีที่มีสามีแล้ว และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์เท่านั้นซึ่งหาใช่ข่าวที่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจ วิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2508
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาฉ้อโกงและการหลอกลวงประชาชนทั่วไปตามมาตรา 343 กับฐานความผิดฉ้อโกงตามมาตรา 341
การกระทำอันจะเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343นั้นผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนโดยทั่วไปจะถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยและผลเสียหายอันเกิดจากคำหลอกลวงของจำเลยมีมากหรือน้อยเป็นหลักหาได้ไม่และเมื่อโจทก์มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยได้หลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปจึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ความผิดตามมาตรา 343
เมื่อผู้ว่าจ้างแต่ละคนได้รับความเสียหาย โดยได้จ่ายเงินสดและเช็คให้จำเลยรับไปผู้ว่าจ้างแต่ละคนก็เป็นผู้เสียหาย
เมื่อผู้ว่าจ้างแต่ละคนได้รับความเสียหาย โดยได้จ่ายเงินสดและเช็คให้จำเลยรับไปผู้ว่าจ้างแต่ละคนก็เป็นผู้เสียหาย