คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประท้วง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612-6613/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานวางเพลิงทำลายทรัพย์สินจากการประท้วง ความรับผิดทางอาญาจากการกระทำความผิดร่วม
น. เป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับจำเลยที่ 1 บ้านอยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตรเคยเห็นจำเลยที่ 1 มาก่อนเกิดเหตุ ย่อมจำจำเลยที่ 1 ได้ไม่ผิดตัวแน่นอน และไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่า น. จะแกล้งใส่ร้ายปรักปรำจำเลยที่ 1 การที่ น. ไม่ได้ร้องตะโกนบอกชาวบ้านให้มาช่วยดับไฟและไม่ได้ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจทันที เพราะผู้ชุมนุมประท้วงมีมากและเจ้าพนักงานตำรวจกับประชาชนเข้าไปดับไฟก็ถูกผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางและทำร้ายจนไม่สามารถดับไฟได้เช่นนี้ ไม่ได้เป็นเหตุให้ไม่น่าเชื่อว่า น.ไม่เห็นเหตุการณ์ คำเบิกความของ น. สมเหตุสมผล แม้โจทก์จะมี น. เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถือพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและวางเพลิงเผาทรัพย์ การสอบคำให้การ ต. และนายดาบตำรวจ ป. มีขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมแม้ข้อความที่บันทึกจะเป็นพยานบอกเล่าและไม่ได้ทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ก็สามารถใช้รับฟังประกอบคำเบิกความของพันตำรวจโท ร. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ถือกระป๋องน้ำมันมา และมีผู้ถือคบเพลิง 10 ถึง 20 คน เข้าไปรายล้อมจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 เทน้ำมันจากกระป๋องลงไปที่คบเพลิง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ผิดแผกไปจากผู้ประท้วงอื่น ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 โดดเด่นน่าสนใจกว่าผู้ประท้วงอื่นการที่พันตำรวจโทร. จำจำเลยที่ 2 ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือแม้พยานโจทก์จะไม่มีผู้ใดเบิกความว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนจุดไฟเผาอาคารที่เกิดเหตุแต่คำเบิกความของพันตำรวจโท ร. ประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ต.และนายดาบตำรวจ ป. รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนราดน้ำมันลงในคบเพลิงที่ใช้โยนขึ้นไปเผาหลังคาอาคารเก็บพัสดุ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับผู้ที่จุดไฟคบเพลิงโยนขึ้นไปบนหลังคาอาคารเก็บพัสดุอันเป็นการวางเพลิงเผาอาคารดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2506

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประท้วงการกระทำของเจ้าพนักงานไม่ถึงขั้นดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136
การที่จำเลยนั่งอยู่ในรถยนต์ เจ้าพนักงานไปเรียกจำเลยให้ลงจากรถยนต์เพื่อจับกุมในข้อหาสมคบกับพวกลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยจึงพูดว่า"เป็นเจ้าพนักงานสิเอาอำนาจหยังมาไซ่รุนแรงเกินไปแบบนี้" เป็นคำกล่าวประท้วงการกระทำของเจ้าพนักงานโดยมีเหตุผลไม่เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา136
ฟ้องว่าจำเลยกล่าวดูหมิ่นเจ้าพนักงานว่า "เป็นเจ้าพนักงานสิเอาอำนาจหยังมาไซ่รุนแรงเกินไปแบบนี้" ซึ่งมีความหมายว่าเจ้าพนักงานใช้อำนาจรุนแรงต่อจำเลยนั้น โจทก์จะนำสืบความหมายนอกเหนือไปจากที่กล่าวในฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405-2407/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีประท้วงโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้อง และกระทำผิดอาญา
ข้อเท็จจริงยุติตามคำร้องและคำคัดค้านว่าการนัดหยุดงานกระทำไปโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อผู้ร้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้พนักงานนัดหยุดงานตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) การนัดหยุดงานที่ฝ่าฝืนมาตรา 34 มีโทษตามมาตรา 139 เมื่อการนัดหยุดงานต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) และมีโทษตามมาตรา 139 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชักชวนให้พนักงานนัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานนัดหยุดงานจึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา 99 (2) อีกทั้งศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เข้าทำงาน ออกไปชุมนุมด้วย และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีการชักชวนพนักงานให้ออกไปชุมนุมประท้วงโดยการปิดถนนและนำรถยนต์ไปจอดขวางถนนภายในโรงแรมซึ่งเป็นถนนสาธารณะจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 215 วรรคแรก จึงเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649-1664/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ร่วมชุมนุมประท้วง แม้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง ย่อมเป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย
การที่โจทก์บางคนซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานหยุดงานเข้าร่วมชุมนุมกับลูกจ้างที่มีหน้าที่ดังกล่าวด้วย เป็นเรื่องที่โจทก์ดังกล่าวสามารถรู้สำนึกและคาดหมายถึงผลของการกระทำของตนกับพวกได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยและทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งหมดร่วมกันจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยภาพรวมว่าโจทก์ทั้งสิบหกคนทั้งที่มีหน้าที่และไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานตามแผนการผลิตได้ละทิ้งหน้าที่ไม่ไปปฏิบัติงานอันเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) จึงชอบแล้ว