คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประธานสภา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5787/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องเป็นประธานสภาฯ หรือนายอำเภอ การประชุมโดยรองประธานสภาฯ ย่อมไม่ชอบ
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องได้ความว่า เจ้าพนักงานผู้นั้นได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเฉพาะเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนตามกฎหมาย หรือระเบียบหรือที่ได้รับมอบหมายให้กระทำโดยตรงเท่านั้น
จำเลยทั้งเก้าเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยที่ 1เป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายอำเภออนุมัติและมีคำสั่ง ประกาศให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเปิดสมัยประชุมวิสามัญและ ชอบด้วยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ในการเรียกประชุมพระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 54 กำหนด ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามสมัยประชุมและเป็นผู้เปิดและ ปิดประชุมเว้นแต่กรณีที่ยังไม่มีประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะต้องเรียกประชุมและเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม เมื่อนายอำเภอได้มีประกาศให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเปิดสมัยประชุมวิสามัญตามคำร้องขอของจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้แล้ว ผู้ที่มีหน้าที่เรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมาประชุมตามวันที่ กำหนดย่อมต้องเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคือนายอำเภอ เท่านั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่มีหน้าที่ในการเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เว้นแต่ จะได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ เมื่อนายอำเภอไม่ได้มอบหมายให้ จำเลยเรียกประชุม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะเรียกประชุมสมัยวิสามัญดังกล่าวได้ แม้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเรียกประชุม สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 พร้อมสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมาร่วมประชุม โดยมีจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ ประธานที่ประชุมในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็นการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสมัยวิสามัญ โดยชอบตาม พระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยทั้งเก้าจึงไม่มีหน้าที่ ต้อง เข้าร่วมประชุมสมัยวิสามัญซึ่งเรียกประชุมโดยไม่ชอบด้วยบทกฎหมายหากมติที่ประชุมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งเก้า ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสถานะสภาจังหวัดเป็นสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และผลต่อตำแหน่งประธานสภา
แม้มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ.ศ. 2540 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540มีผลให้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัดพ.ศ. 2498 ก็ตาม แต่มาตรา 82 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้อันเป็นบทเฉพาะกาลได้บัญญัติรับรองให้สภาจังหวัดและสมาชิกสภาจังหวัดที่มีอยู่เดิมมีฐานะเป็นสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แล้วแต่กรณี จึงมีผลให้สภาจังหวัดศรีสะเกษมีฐานะเป็นสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษและสมาชิกสภาจังหวัดศรีสะเกษมีฐานะเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษโดยผลของกฎหมาย และแม้บทบัญญัติในส่วนนี้จะมิได้กล่าวไว้โดยแจ้งชัดว่าให้ประธานสภาจังหวัดและรองประธานสภาจังหวัดเป็นประธานสภาและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้มีการเลือกประธานสภาและรองประธาน สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นใหม่หรือกำหนดให้ บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำหน้าที่ประธานสภาและรองประธานสภาไปพลางก่อน แสดงว่ากฎหมายประสงค์ให้ประธานสภาจังหวัดและ รองประธานสภาจังหวัดซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดอยู่ด้วยและ เปลี่ยนมาเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาม มาตรา 82 วรรคสอง มีฐานะเป็นประธานสภาและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาจังหวัดศรีสะเกษในขณะที่พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ.ศ. 2540 ใช้บังคับย่อมเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษโดยผลของกฎหมายหายังสิ้นสุดลงไม่ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ได้ประกาศเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีระเบียบวาระการประชุม เกี่ยวกับผู้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราวการเลือกประธานสภารองประธานสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษและต่อมาได้มีการประชุมเลือก ว. เป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษและเลือก ช.กับย. เป็นรองประธานสภาฯ ต่อจากนั้น ว. ได้ดำเนินการประชุมต่อไปตามระเบียบวาระและที่ประชุมมีมติเลือก ณ. เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษนั้น แม้โจทก์จะอยู่ในที่ประชุม ด้วยแต่โจทก์มิได้เป็นผู้ดำเนินการประชุมตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง การประชุมเลือกประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษในวันดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติสภาเทศบาลและการแต่งตั้งประธาน/รองประธานใหม่ ทำให้คำขอเดิมสิ้นผลไป
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลปากช่องและมติแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาเทศบาลตำบลปากช่อง และมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นประธานและรองประธานสภาเทศบาลตำบลปากช่องตามลำดับ ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น สภาเทศบาลตำบลปากช่องได้ลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาเทศบาลใหม่แล้ว การดำรงตำแหน่งของประธานและรองประธานสภาเทศบาลตำบลปากช่องเดิมย่อมหมดวาระในการดำรงตำแหน่งต่อไปจึงไม่อาจจะพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยและจำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีเลือกตั้งประธานสภาเทศบาล หลังมีการเลือกตั้งใหม่และหมดวาระเดิม
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมสภาเทศบาลและมติแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาเทศบาล และมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นประธานและรองประธานสภาเทศบาลตามลำดับ ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นสภาเทศบาลได้ลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาเทศบาลใหม่แล้ว การดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาเทศบาลเดิมย่อมหมดวาระในการดำรงตำแหน่งต่อไป จึงไม่อาจจะพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะจำหน่ายคดีจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับเงินประจำตำแหน่ง ส.ส. แม้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและแจ้งประธานสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (2) บัญญัติให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อผู้นั้นเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ตามมาตรา 92 บัญญัติให้การสิ้นสุดสมาชิกภาพดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี คดีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยทั้งเจ็ดยังคงทำหน้าที่มิได้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่ต้องคืนเงินที่รับไประหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แก่โจทก์