พบผลลัพธ์ทั้งหมด 21 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4808/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิบัตรต้องได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยเพื่อได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย การได้รับอนุญาตใช้สิทธิไม่ใช่ปัจจัยเพียงพอ
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทที่อนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิไม่เคยยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย การออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ผู้ทรงสิทธิบัตรจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 63 ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองและขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจำหน่ายเงินกำไรออกจากไทยโดยผ่านตัวแทน: ภาระภาษีตามมาตรา 70 ทวิ
บริษัท ซ. จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นนิติบุคคลต่างประเทศและไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ส่วนโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แม้โจทก์จะเป็นเพียงนายหน้าทำหน้าที่ชี้ช่องให้แก่บริษัท ซ. จำกัดและผู้ซื้อหรือหน่วยงานในประเทศไทยเจรจาซื้อขายสินค้าระหว่างกันเอง และผลตอบแทนที่โจทก์ได้รับมีเพียงค่านายหน้าจากบริษัท ซ. จำกัด และการชำระราคาสินค้า ผู้ซื้อสินค้าจะชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัท ซ. จำกัด โดยตรงด้วยวิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการจ่ายเงินค่าสินค้าและค่าจ้างให้แก่บริษัท ซ. จำกัดโดยตรง โดยจ่ายให้แก่สำนักงานชั่วคราวของบริษัทที่ประจำอยู่ ณ หน่วยงานในโครงการเพื่อเป็นรายจ่ายในประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานได้จ่ายเงินบาททั้งหมดในประเทศไทย หรือจ่ายให้แก่บริษัท ซ. จำกัด โดยตรงโดยวิธีเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัท ซ. จำกัดไปเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกรณีนี้ระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัท ซ. จำกัดเป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีโจทก์เป็นผู้กระทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้กับบริษัท ซ. จำกัด ในประเทศไทย อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัท ซ. จำกัด การที่โจทก์เข้าไปผูกพันกับบริษัท ซ. จำกัดในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โจทก์ย่อมรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างดี โจทก์มีความใกล้ชิดกับบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างมาก มิเช่นนั้นโจทก์คงไม่เข้าไปผูกพันกับบริษัทดังกล่าวเช่นนั้นโจทก์จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนธรรมดาทั่วไปที่หาลูกค้าให้บริษัทดังกล่าวเท่านั้น การที่บริษัท ซ. จำกัด มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับการส่งเงินหรือค่าตอบแทนโดยตรงหรือการเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ก็เป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการตามที่โจทก์ตกลงกับบริษัท ซ. จำกัด เท่านั้น โจทก์จะนำความแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างเพียงเท่านี้มาเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีที่แตกต่างกันหาได้ไม่ แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่บริษัท ซ. จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็หามีผลแตกต่างไปจากการที่ลูกค้าส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อแล้วโจทก์จึงส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างดังกล่าวไปให้บริษัท ซ. จำกัด อีกทอดหนึ่ง เพราะไม่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างออกไปเองหรือให้ลูกค้าของบริษัทดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างทั้งหมดให้ในต่างประเทศโดยตรงด้วยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น ก็มีผลทำให้บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ถือว่าประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย และเมื่อเงินที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยมีส่วนของกำไรหรือถือว่าเป็นกำไรรวมอยู่ด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 70 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4550/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักค่าใช้จ่ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างประเทศเป็นค่าใช้จ่ายในประเทศไทย: หลักเกณฑ์การคำนวณกำไรสุทธิและภาษี
รายจ่ายต่าง ๆ ของโจทก์เกี่ยวกับเงินเดือนสำนักงานใหญ่เบี้ยเลี้ยงเงินที่จ่ายในการหยุดพักร้อน เงินบำนาญพนักงานชาวต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและตรวจสำนักงานสาขาของสำนักงานใหญ่ ค่าโฆษณาทั่วไป ค่าเครื่องเขียนและแบบพิมพ์ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ค่าใช้จ่ายอาคารสำนักงานใหญ่ค่าตอบแทนกรรมการและค่าตรวจสอบบัญชี โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ได้ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่กิจการของสาขาในประเทศไทยอย่างไร เพียงแต่โจทก์ใช้หลักเกณฑ์ในการเฉลี่ยโดยนำรายได้ของสำนักงานสาขาในประเทศไทยมาหารด้วยรายได้รวมของสำนักงานใหญ่และทุกสาขาของโจทก์ แล้วคูณด้วยรายจ่ายส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานซึ่งสำนักงานใหญ่ได้จ่ายไปและถือว่าผลลัพธ์เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะเป็นหลักเกณฑ์ที่โจทก์ถือปฏิบัติและกำหนดเอาเอง โดยไม่มีหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะจำนวนเท่าใด เพียงแต่คิดว่ารายจ่ายเหล่านี้เกิดประโยชน์แก่สาขาในประเทศไทยด้วยเท่านั้น กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ เมื่อโจทก์นำค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจึงต้องนำยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ เป็นผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่นำกลับไปรวมนั้น เมื่อสาขาของโจทก์ในประเทศไทยส่งเงินส่วนเฉลี่ยค่าใช้จ่ายซึ่งมิให้ถือเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะไปยังสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินรายได้ซึ่งจะต้องนำกลับเข้ามารวมคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องถือว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยได้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ฉะนั้น โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6489/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงินค่าสิทธิจากสัญญาให้ใช้สิทธิ หากสำนักงานสาขาเป็นตัวแทนปฏิบัติพันธะตามสัญญา ถือเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นในไทย
สัญญาให้ใช้สิทธิยินยอมให้โจทก์มีสิทธิผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ให้สิทธิ และบริษัทดังกล่าวจะให้คำแนะนำในข้อปฏิบัติกรรมวิธีการผลิตสินค้า รวมทั้งการช่วยเหลืออื่น ๆ ตลอดจนส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำโจทก์เป็นครั้งคราว ซึ่งในทางปฏิบัติโจทก์ได้ขอคำแนะนำผ่านสำนักงานสาขาในประเทศไทยของบริษัทดังกล่าว บางครั้งบริษัทดังกล่าวส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำสำนักงานสาขา โจทก์ก็ได้ขอคำแนะนำจากสำนักงานสาขาโดยตรงดังนี้แม้โจทก์จะทำสัญญาให้ใช้สิทธิกับบริษัทดังกล่าวโดยตรงสำนักงานสาขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญาก็ตาม แต่บริษัทมอบหมายให้สำนักงานสาขาเป็นตัวแทนในการปฏิบัติตามข้อสัญญา คือให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ตรวจสอบยอดขายและการเปลี่ยนแปลงราคาขาย ต้องถือว่าสำนักงานสาขาเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับบริษัทดังกล่าวได้กระทำกิจการอันเป็นเหตุให้ได้เงินค่าสิทธิในประเทศสำนักงานสาขาในไทยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66กรณีจึงไม่ใช่เงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 70 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกรณีบริษัทต่างชาติส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในไทย
บริษัท ฮ. ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โจทก์ในการผลิตกระดาษตามสัญญาที่บริษัท ฮ. ทำไว้กับโจทก์ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญ 15 คนเข้ามาประจำอยู่ณ โรงงานโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึง 2522 บริษัท ฮ. ได้รับเงินค่าธรรมเนียมในการช่วยเหลือดังกล่าว ดังนี้ การที่บริษัท ฮ.ให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์มิได้เป็นการประกอบกิจการของบริษัท ฮ.ในประเทศไทย แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าบริษัท ฮ. ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ แต่บริษัท ฮ.ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) ที่จ่ายจากประเทศไทยเพราะเงินดังกล่าวเป็นค่าสิทธิตามความหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ข้อ 8(2) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70(2) ประกอบอนุสัญญาดังกล่าวข้อ 8(1) และ (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251-253/2529
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลแรงงานและลักษณะการจ้างงาน: คดีเกิดขึ้นในไทย แม้จำเลยไม่มีภูมิลำเนา และสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานให้แก่จำเลยในประเทศไทยมูลคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ้ายค่าทำงานล่วงเวลาสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในประเทศไทยแม้จำเลยจะมิได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทยโจทก์ก็ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลแรงงานกลางได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา33. แม้อายุสัญญาขุดเจาะน้ำมันระหว่างจำเลยกับบริษัทท.จะกำหนดเวลาไว้แน่นอนแต่โจทก์กับจำเลยมิได้ตกลงจ้างกันเพียงหมดอายุสัญญาระหว่างจำเลยกับบริษัทท.คราวใดคาวหนึ่งการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงหาใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2526
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
บริษัทต่างประเทศประกอบการค้าในไทย มีหน้าที่เสียภาษีการค้า แม้จะระบุในสัญญาให้โจทก์เป็นผู้ออกภาษีแทน
บริษัทส.จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างประเทศ แต่เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย โดยเข้าทำสัญญากับโจทก์รับจ้างและร่วมดำเนินการในการให้บริการในด้านวิศวกรรมและให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตเหล็กให้แก่โจทก์ โดยได้รับเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากโจทก์ อันถือได้ว่าเป็นการประกอบการค้าจะต้องเสียภาษีการค้าสำหรับเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากโจทก์เมื่อตามสัญญาระบุว่าโจทก์รับเป็นผู้ออกภาษีให้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นสาขาหรือตัวแทนของบริษัท ฮ. ในการเสียภาษีด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าของบริษัท ฮ. ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อไม่ปฏิบัติ เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2524
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสมรสในต่างประเทศที่มีอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ และการบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศในประเทศไทย
โจทก์สมรสในประเทศจีนเมื่ออายุ 10 ปี กับหญิงอายุ 12 ปี ซึ่งถูกต้องไม่มีกฎหมายห้ามในประเทศจีนในขณะนั้น เป็นการสมรสที่ชอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 20 บุตรของโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2524
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทย ผู้จำหน่ายต้องเป็นผู้ส่งเงินกำไรเอง ไม่ใช่ผู้แทนในการซื้อขาย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ (ใช้บังคับระหว่างปี พ.ศ. 2509ถึง พ.ศ. 2510) ที่บัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไร ออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ ฯลฯ" นั้นหมายความว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายเงินกำไรต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรและเงินที่จำหน่ายนั้นต้องเป็นกำไรโดยแท้จริงหรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไร โจทก์เป็นเพียงผู้ทำการแทนทำการติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยในการขายสินค้าแทนบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อติดต่อได้ลูกค้าในประเทศไทยแล้ว โจทก์จะแจ้งให้บริษัทนั้นทราบว่ามีลูกค้าในประเทศไทยต้องการซื้อสินค้าชนิดใด แล้วบริษัทดังกล่าวจะติดต่อทำสัญญากับลูกค้ารับเงินจากลูกค้า และส่งสินค้าให้ลูกค้าเอง โจทก์เพียงแต่ได้รับค่านายหน้าจากผู้ขายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของลูกค้า ไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงิน ซึ่งลูกค้าส่งไปเป็นค่าซื้อสินค้าบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่นเอง อันจะถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา70 ทวิอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2523 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวแทนบริษัทต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษีเมื่อประกอบกิจการในไทยหรือไม่
ลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ที่เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวี นั้น จะต้องเป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการซึ่งเป็นเหตุให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย