คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประโยชน์ทางภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6898/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คณะบุคคลเพื่อประโยชน์ทางภาษี: การถือหุ้นและสิทธิขอคืนภาษี
โจทก์ที่ 1 แบ่งหุ้นในบริษัทให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคล มีการยื่นคำขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นของบริษัท คณะบุคคลนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 นำเครดิตภาษีจากเงินปันผลรวมคำนวณภาษี และมีภาษีที่ชำระเกินจึงขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเพราะเห็นว่าเงินปันผลที่คณะบุคคลได้รับถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละบุคคลผู้ร่วมในคณะบุคคล
โจทก์ทั้งสามมีเพียงสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลที่จัดทำขึ้นเอง ซึ่งกำหนดให้โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการแทนคณะบุคคล โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้นมาเป็นชื่อของตน แม้บริษัทจะได้ลงชื่อคณะบุคคลในทะเบียนผู้ถือหุ้นก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทตามกฎหมาย เนื่องจากคณะบุคคลมิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอันอาจเป็นผู้ใช้สิทธิถือหุ้นแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นบริษัท ซึ่งความข้อนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า เงินปันผลที่ได้มาไม่มีการแบ่งปันให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยเก็บสะสมไว้เป็นเงินสำหรับการศึกษาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าเงินปันผลอันเป็นดอกผลของหุ้นมิได้ตกแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อย่างแท้จริง แต่เป็นเงินที่อยู่ในความควบคุมและจัดการของโจทก์ที่ 1 พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะบุคคลเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 ต้องการที่จะจัดตั้งหน่วยภาษีขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเท่านั้น หุ้นของบริษัทยังคงเป็นของโจทก์ที่ 1 เช่นเดิม ดังนั้น คณะบุคคลที่โจทก์ทั้งสามจัดตั้งขึ้นจึงไม่ใช่คณะบุคคลตามมาตรา 56 วรรคสอง อันจะมีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4440/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสัญญาแฟรนไชส์ การได้รับประโยชน์ทางภาษีที่ถือเป็นค่าบริการ
สัญญาแฟรนไชส์ ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศและมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ในเรื่องการโฆษณา กำหนดให้โจทก์ต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมและดุลพินิจของบริษัท พ. โดยเฉพาะโจทก์ในฐานะผู้รับแฟรนไชส์ไม่มีอิสระที่จะทำการโฆษณาตามรูปแบบและเนื้อหาที่โจทก์ต้องการได้เลย ดังนั้น งบโฆษณาและส่งเสริมการขายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาข้อ 7 แม้โจทก์จะมิได้จ่ายให้แก่บริษัท พ. โดยตรง แต่ก็เป็นประโยชน์ที่บริษัท พ. ได้รับ โดยบริษัท พ. ไม่ต้องไปดำเนินการโฆษณาเอง จึงถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามบทนิยามความหมายของ "เงินได้พึงประเมิน" ตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร
เมื่อตามสัญญาแฟรนไชส์ข้อ 7 กำหนดว่าโจทก์จะต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 ของยอดขายรวม แสดงว่าโจทก์ต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายเช่นว่านี้ตามสัญญาก็เพื่อตอบแทนการที่บริษัท พ. ยินยอมให้โจทก์เป็นผู้รับแฟรนไชส์ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัท พ. ได้รับประโยชน์หรือ "เงินได้พึงประเมิน" เช่นว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าแฟรนไชส์ที่เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) และการที่โจทก์จ่ายเงินค่าแฟรนไชส์ที่เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) ดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการชำระราคาค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท พ. ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตาม มาตรา 83/6 (2)