คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปรับลด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยตามสัญญาไม่เป็นเบี้ยปรับ แม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินระบุไว้ชัดเจนว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าหากไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรจึงไม่ใช่เบี้ยปรับ แม้ทางปฏิบัติโจทก์จะยอมผ่อนผันให้โดยคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ และต่อมาโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งจนครั้งสุดท้ายจากอัตราร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ตามสัญญากลายเป็นเบี้ยปรับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2433/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเงินกู้: ศาลปรับลดดอกเบี้ยสูงเกินส่วนได้ แม้สถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศ
โจทก์และจำเลยทำสัญญากู้เงินกันไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะทำสัญญา อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี และอัตราสูงสุดหากจำเลยประพฤติผิดเบี้ยปรับในสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอันเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วนก็ปรับลดลงมาเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 654 ไม่ทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าไม่เป็นเบี้ยปรับ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8.75 ต่อปีของต้นเงิน เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปอันเป็นอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เสียทั้งสิ้นซึ่งไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจชอบด้วยกฎหมายเมื่อประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และมีกฎหมายรองรับ
รัฐวิสาหกิจเป็นกิจการของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้ภาครัฐวิสาหกิจนำเงินที่ประหยัดได้ไปเพิ่มวงเงินสดที่มีเพื่อใช้ในการลงทุนซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนที่เบิกจ่ายได้จริงมีจำนวนสูงขึ้น และรัฐวิสาหกิจยัง ไม่ได้จ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ให้แก่พนักงานประกอบกับ พ.ร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มาตรา 33 บัญญัติให้พนักงานของจำเลยได้รับเงินโบนัสตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ดังนั้นคณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2541 ซึ่งรวมทั้งพนักงานของจำเลยลงได้ การที่จำเลยปรับลดเงินโบนัส ประจำปี 2541 ของโจทก์ในอัตราร้อยละ 30 ของเงินโบนัสที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3241/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังผิดนัดกู้เงิน มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจลดได้
เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ต่อเมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจปรับลดลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ: ศาลมีดุลยพินิจกำหนดค่าขาดประโยชน์และปรับลดค่าเสียหายตามสัญญาได้
การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเวลา1ปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนนั้นการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดได้เพราะมิฉะนั้นค่าขาดประโยชน์อาจเกินราคารถยนต์ที่เช่าซื้อประกอบกับต้องคำนึงว่าการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อจะใช้ไปได้นานอีกเท่าไรจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอ ข้อความในสัญญาเช่าซื้อข้อ8ที่ระบุว่าในกรณีที่สัญญานี้ต้องสิ้นสุดลงเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือเพราะประพฤติผิดสัญญาเช่าซื้อข้อใดก็ดีผู้เช่าซื้อจำต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมดข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าอันเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้เช่าซื้อนอกเหนือและแตกต่างไปจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา574วรรคแรกแต่มาตราดังกล่าวมิใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ8มิได้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อเลิกได้หากผิดนัด และศาลมีอำนาจปรับลดดอกเบี้ย/ค่าเสียหายที่สูงเกินไปได้
ฟ้องเรียกราคารถซึ่งใกล้เคียงกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหากสูงเกินไปศาลมีอำนาจลดลงได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 1 งวด สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยต้องเลิกกันทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เพราะข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกัน ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ แต่ถ้าดอกเบี้ยสูงเกินส่วนศาลกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างทนายความที่ไม่สุจริต: ศาลปรับลดค่าจ้างตามผลงานจริง แม้สัญญาจะระบุอัตราตามทุนทรัพย์
แม้สัญญาจ้างว่าความระบุให้โจทก์ในฐานะทนายความจำเลยดำเนินคดีต่อศาลแรงงานกลางเรียกร้องค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส ค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินกองทุนเลี้ยงชีพที่ค้างชำระ และเงินรางวัลขยันระหว่างปี แต่การที่โจทก์ซึ่งทราบดีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด กลับระบุในคำฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายบางส่วน สูงเกินสิทธิที่จำเลยจะได้รับ และบางส่วนจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเลย ทั้งนี้เพื่อให้จำนวนทุนทรัพย์ในคดีสูงเกินจริงเพื่อประโยชน์ในค่าจ้างว่าความที่ตนจะได้รับจากจำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนทุนทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างว่าความ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ไม่อาจถือเอาจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความตามสัญญาจ้างว่าความได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ได้กระทำการตามสัญญาจ้างว่าความจนศาลแรงงานกลางและศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยได้รับชดใช้ค่าเสียหายไปบางส่วนจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำเป็นจำนวน 15,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการต้องแสดงมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริง การปรับลดมูลค่าโดยไม่สมเหตุผลทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์
การพิจารณาปัญหาว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (3) หรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาประกอบข้อมูลจากแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนรายการรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ที่แท้จริงของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/42 (2) เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ในชั้นพิจารณาแผนว่าการลงรายการในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนสินทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ถูกต้อง ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่นำสืบว่าแผนนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานใดแน่ชัดตามแผนฟื้นฟูกิจการและคำชี้แจงของผู้ทำแผนว่าสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของลูกหนี้ที่มีต่อบริษัทย่อยของลูกหนี้และบริษัทที่เกี่ยวข้องในทางบัญชีถือได้ว่าเป็นหนี้สูญที่ลูกหนี้ติดตามทวงถามจนถึงที่สุดแล้วยังมิได้รับชำระ หรือเป็นหนี้สงสัยจะสูญที่ปรากฏพฤติการณ์ใด ๆ ที่ลูกหนี้คาดได้ว่ามิอาจเรียกเก็บได้แล้ว การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดมูลค่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ดังกล่าวจำนวน 607,652,315 บาท ให้เป็นศูนย์ทั้งหมด ทั้งที่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวยังคงเป็นสินทรัพย์ที่แม้ลูกหนี้ล้มละลายหรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ยังอาจดำเนินการทวงหนี้และขอต่อศาลให้บังคับคดีบริษัทดังกล่าวชำระหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 และมาตรา 119 จึงเป็นการปกปิดมูลค่าที่แท้จริงของกิจการลูกหนี้โดยการปรับลดสินทรัพย์ทางบัญชีซึ่งเมื่อรวมกับสินทรัพย์รายการอื่นที่ถูกกำหนดจำนวนเป็นศูนย์เช่นเดียวกันตามตารางผลตอบแทนในกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ 13 รายการสินทรัพย์ของลูกหนี้ที่กำหนดจำนวนเป็นศูนย์ในแผนทั้งหมดจึงมียอดเงินเป็นจำนวนมากรวม 662,201,701 บาท ทั้งผู้ทำแผนปรับลดสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นศูนย์แล้วมิได้กำหนดให้นำสินทรัพย์ดังกล่าวมาจัดสรรชำระหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมเป็นผลทำให้เจ้าหนี้ทุกกลุ่มได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปกติ และไม่อาจนำสินทรัพย์ที่มีการปรับลดโดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควรดังกล่าวมาประมาณการเปรียบเทียบให้ถูกต้องได้ว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนใดกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว พยานหลักฐานของผู้ทำแผนจึงไม่มีน้ำหนักนำมารับฟังได้ว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจองซื้อบ้าน: ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม, มัดจำสูงเกินส่วน, การปรับลดเบี้ยปรับ
สัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้จอง แบบบ้านและราคาที่ตกลงซื้อขาย โพรโมชัน (Promotion) ที่โจทก์จะได้รับจากจำเลย รายการชำระเงินจองกับเงินทำสัญญาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลง วิธีการชำระเงิน รวมไปถึงข้อตกลงให้จำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระมาเสียทั้งหมดหากโจทก์เพิกเฉยไม่เข้าทำสัญญาภายในกำหนดเวลา อันเป็นรายละเอียดของสัญญาจองที่มีตามปกติทั่วไป มิได้มีข้อตกลงใดผูกมัดโจทก์ให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิจำเลยบอกเลิกสัญญาได้โดยโจทก์มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ อันจะถือเป็นข้อที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ แม้ในการทำสัญญาจองบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระเงินจองกับเงินทำสัญญารวมกันสูงกว่าที่ระบุในใบเสนอราคา แต่มิใช่ว่าใบเสนอราคากำหนดเงินจองและเงินทำสัญญาไว้เป็นจำนวนใดแล้ว คู่สัญญาจะปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แตกต่างเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การชำระเงินจองและเงินทำสัญญาแก่กันเพียงใด ย่อมเป็นไปตามการแสดงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีทางการค้าขายที่คู่สัญญาจะตกลงให้มีการวางเงินจองและเงินทำสัญญาสูงกว่าเกณฑ์ที่ผู้จะขายกำหนดไว้ก็ย่อมกระทำได้ มิได้มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดใด ทั้งเงินจองที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยอันเป็นมัดจำ ซึ่งมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หาใช่เป็นการให้เปล่าแก่กัน หากโจทก์มิได้ประพฤติผิดสัญญา จำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบไว้หรือยึดถือเพื่อตนโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อมีการชำระราคาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อขาย ส่วนเงินทำสัญญาก็เป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ต้องชำระให้แก่กัน ดังนั้น ลำพังข้อตกลงในสัญญาจองที่จำเลยให้โจทก์วางเงินจองเป็นมัดจำและเงินทำสัญญาสำหรับบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลง สูงไปกว่าที่ระบุในใบเสนอราคา จึงยังไม่อาจกล่าวว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่ทำให้จำเลยผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ได้เปรียบโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร หรือมีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันต้องด้วยลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4
แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 7 จะบัญญัติว่า "ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" แต่เมื่อพิเคราะห์ว่า บ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายกันเป็นบ้านตัวอย่างในโครงการ ซึ่ง พ. พนักงานขายของจำเลยเบิกความว่า ราคาบ้านตัวอย่างในโครงการจะสูงกว่าราคาบ้านทั่วไปในโครงการ โดยราคาบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายรวมกันแล้วเป็นเงินสูงถึง 16,300,000 บาท เงินจองซึ่งเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์และเป็นประกันความเสียหายให้แก่จำเลย อันเป็นมัดจำที่โจทก์ชำระรวม 200,000 บาท คิดคำนวณเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 2 ของราคาบ้านทั้งสองหลัง จึงมิได้สูงเกินส่วน ย่อมเป็นการชอบธรรมที่จำเลยจะริบมัดจำ 200,000 บาท ไปเสียทั้งสิ้นโดยไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี สำหรับเงินทำสัญญาของบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงที่จะซื้อจะขายเป็นเงินรวม 300,000 บาท มิใช่มัดจำ หากเป็นการชำระราคาบางส่วน ซึ่งเมื่อเอกสารจองแบบย่อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ทั้งหมดได้ เงินในส่วนนี้ย่อมเป็นเบี้ยปรับ และหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง