พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7916-7918/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เช็คเพื่อประกันหนี้: สิทธิในการเรียกเก็บเงินขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบปริมาณงานก่อสร้าง
จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 6 ฉบับ ตามบันทึกต่อท้ายบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งเงื่อนไขกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างอาคารของวิศวกรคนกลางก่อน หากจำเลยเป็นหนี้โจทก์มากกว่า 1,000,000 บาท ให้โจทก์นำเช็คทั้ง 6 ฉบับไปเรียกเก็บเงินได้ทันที ถ้าปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท ให้โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้เฉพาะเท่าที่จำเลยเป็นหนี้แล้วคืนเช็คที่เหลือ แต่ถ้าปรากฏว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยแล้ว โจทก์จะต้องส่งมอบเช็คทั้ง 6 ฉบับคืนจำเลย แสดงให้เห็นว่าการให้ทราบผลการตรวจสอบของวิศวกรคนกลางก่อนเป็นสาระสำคัญของเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ทราบก่อนว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์แน่นอน โจทก์จึงจะมีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้ เท่ากับในขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับมอบแก่โจทก์ ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ เช็คดังกล่าวจึงเป็นเพียงการประกันหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หลังจากทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างของวิศวกรคนกลางแล้ว จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง: การจ่ายเงินตามปริมาณงานจริง แม้ราคากลางผิดพลาด ไม่เป็นเหตุให้เกิดลาภมิควรได้
แม้สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มุ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ได้ทำจริง โดยมุ่งเพื่อให้การจ่ายเงินใกล้เคียงกับปริมาณงานที่ได้ทำจริงมากที่สุดก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อ 4 ก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงว่าจำนวนปริมาณงานที่กำหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาที่เป็นจำนวนโดยประมาณเท่านั้น จำนวนปริมาณงานที่แท้จริงอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ดังนั้น การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การคำนวณปริมาณงานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและประมาณราคากับขั้นตอนการกำหนดราคากลาง ทำให้ค่างานก่อสร้างที่คำนวณได้และนำไปใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นสูงเกินค่าก่อสร้างจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิเพียงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริงตามข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง หากโจทก์ไม่ยินยอมจ่ายเงินในส่วนที่เกินราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ย่อมเป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างไปจากโจทก์ซึ่งเกินไปกว่าปริมาณงานตามความเป็นจริงที่กำหนดไว้ในสัญญา ย่อมเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ต่างตอบแทนที่ยังมีข้อโต้แย้งจากการทำงานตามสัญญาให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ จำเลยที่ 1 กับพวก หาจำต้องร่วมกันคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406