คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปักเสาไฟฟ้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5545/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการปักเสาไฟฟ้าและการขอบเขตของการยินยอมที่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการติดตั้ง
ความยินยอมของโจทก์ตามคำขอปักเสาพาดสายในที่ดินจัดสรรข้อ 9 วรรคแรก มีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อบังคับการใช้ไฟฟ้าและบริการของการไฟฟ้านครหลวง(จำเลยที่ 1) รวมทั้งที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปทุกประการและข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้วว่า เสาสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆภายนอกเครื่องวัดฯ เป็นสมบัติของการไฟฟ้านครหลวง และยินยอมให้การไฟฟ้านครหลวงเปลี่ยนแปลงต่อเติม เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับผู้ใช้ภายในและภายนอกที่ดินจัดสรรด้วย คำว่า"เปลี่ยนแปลงต่อเติม" ในข้อความดังกล่าวหมายความว่าเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมใหม่ หรือแปลงหรือต่อเติมจากของเดิมเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไม่ว่าในหรือนอกที่ดินจัดสรรของโจทก์ให้ได้เพียงพอตามที่จำเลยที่ 1 จะเห็นสมควรตามความจำเป็น หาได้หมายความว่าจะทำได้เฉพาะเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายนอกเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีขนาดที่จะจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ให้เพียงพอเท่านั้นไม่ส่วนข้อความในวรรคสองว่า นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงแบบหรือแผนผังการปักเสาพาดสายไปจากแบบแผนผังที่ข้าพเจ้ายื่นไว้ต่อการไฟฟ้านครหลวง ไม่ว่าจะเป็นด้วยกรณีใดก็ตามทำให้การไฟฟ้านครหลวงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้า (โจทก์)ขอให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดจนค่าเสียหายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใดนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงยอมรับผิดที่จะชำระค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 หากแบบหรือแผนผังที่โจทก์ยื่นขอไว้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่ได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่อเติมเพื่อจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ให้เพียงพอตามวรรคหนึ่งแต่อย่างใด ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 1จะปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ก็ถือได้ว่าได้รับความยินยอมจากโจทก์แล้วดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ที่ขอให้จำเลยที่ 1 กระทำให้ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2ก็ย่อมไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาประนีประนอมยอมความ: สิทธิเดินผ่านที่ดิน ไม่รวมถึงสิทธิปักเสาไฟฟ้า
สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนระบุว่า จำเลยยอมให้โจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยริบเขตแดนด้านทิศใต้ตามแผนที่พิพาทได้กว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนว มีความหมายเฉพาะว่าให้จำเลยเดินผ่านเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงการปักเสาไฟฟ้าด้วยการปักเสาไฟฟ้าของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีรอนสิทธิที่ดินกับคดีละเมิดจากการปักเสาไฟฟ้า แม้คำขอต่างกันแต่เป็นเรื่องเดียวกัน
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 โดยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 คนหนึ่ง และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อีกหลายคน ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายกับรื้อถอนขนย้ายเสาไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับพวกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 16 แปลง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์กับพวกดังกล่าวด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นต้นที่ มาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับค่าทดแทนเนื่องจากการรอนสิทธิ ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจ่ายค่ารอนสิทธิและขาดประโยชน์หรือรับซื้อที่ดินทั้งหมด หากไม่ยินยอมก็ขอให้จำเลยที่ 1 ย้ายแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินทั้งหมด แม้คดีนี้คำขอของโจทก์เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินหรือย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกไปจากที่ดิน 16 แปลง ซึ่งแตกต่างจากคดีก่อนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดที่ทำให้ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2301 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่คดีก่อนโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ด้วย เช่นกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการกระทำเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนคดีของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งในคดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องเดียวกันเมื่อปรากฏว่าขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์นำคดีนี้มายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)