คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ป.ป.ช.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 20 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาของโจทก์: ป.ป.ช. มีอำนาจส่งเรื่องฟ้องได้ แม้มติไม่ชัดเจนตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด
มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 มาตรา 69 เป็นไปตามวิธีการและขั้นตอนการประชุมโดยปกติทั่วไป กฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดรูปแบบและข้อความของมติดังกล่าว มิได้กำหนดขั้นตอนให้ทำเป็นหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียน ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหา และมิได้กำหนดผลบังคับว่าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีมติดังกล่าวอย่างชัดแจ้งแล้วผลจะเป็นอย่างไร จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เคร่งครัดกับรูปแบบและวิธีการของการมีมติดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่รับไว้พิจารณาอยู่ก่อนแล้วตามกฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (3) ดังนั้น แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในภายหลังโดยเห็นชอบกับคณะอนุกรรมการไต่สวนว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็มีผลเท่ากับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้มีการดำเนินการพิจารณาความผิดของจำเลยต่อไปตามมาตรา 69 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ละเมิด: ป.ป.ช. และหน่วยงานรัฐ
แม้โจทก์มิใช่ข้าราชการในกรมอัยการแต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลตามความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (5) และเนื่องจากตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงไม่ใช่บทบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีทุจริตของพนักงานสอบสวน ป.ป.ช. และการร้องทุกข์โดยมิใช่ผู้เสียหายโดยตรง
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ถือเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว บุคคลผู้พบเหตุความผิดดังกล่าวมีอำนาจที่จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ และพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้โดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กล่าวโทษเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121
จำเลยมีตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบล บ. เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้อยู่ใน ขณะเกิดเหตุความผิดคดีนี้ แต่ตำแหน่งของจำเลยเป็นเพียงผู้บริหารท้องถิ่นมิใช่บุคคลที่เป็นข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงและลงมติชี้มูลความผิดส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกล่าวโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องบังคับตามมาตรา 84 ที่ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือตามมาตรา 89 ที่ให้ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการตามมาตรา 88 เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งได้ความจากพันตำรวจโท ว. ว่ากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ได้รับสำนวนการสอบสวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเข้าลักษณะเป็นกรณีตามมาตรา 84, 88 และ 89 ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 6 ดังนั้นพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการย่อมมีอำนาจดำเนินการสอบสวนคดีความผิดนี้ โดยมิพักต้องคำนึงถึงอำนาจของพนักงานสอบสวนในการรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ
แม้คำฟ้องโจทก์กล่าวบรรยายว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร ข. ได้สอบสวนแล้ว และได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นผู้สอบสวนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อเท็จจริงและการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นเพียงการกล่าวบรรยายฟ้องเพื่อให้ทราบว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีโดยมีการสอบสวนแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14066/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการสอบสวนวินัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งและการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย ป.ป.ช.
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดกระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี บทบัญญัติดังกล่าวบังคับเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดวินัยเท่านั้นที่ให้ถือตามรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้บังคับในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงยังคงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งประธานกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2542 ข้อ 76 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้เลขาธิการหรือประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี และ ( 2 ) กำหนดว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สั่งการ ดังนั้น แม้คณะกรรมการสอบสวนวินัยรายงานการสอบสวนโจทก์ว่าเห็นควรยุติเรื่องและจำเลยที่ 1 เห็นชอบ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งและลงโทษโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ต่อไปได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริตของนายก อบต. และขอบเขตความหมาย 'ข้าราชการการเมืองอื่น' ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.
การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและให้อัยการสูงสุดฟ้องคดียังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน ฉะนั้นความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งทางการเมืองที่กล่าวไว้โดยเฉพาะ มิใช่ข้าราชการการเมืองทั่วไป ทั้งความหมายของคำว่า ข้าราชการการเมืองอื่นตามคำนิยามศัพท์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (5) ก็บัญญัติไว้แยกต่างหากจากคำว่าผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 4 (7) ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่จำเลยดำรงตำแหน่ง มิได้อยู่ในความหมายของคำว่าข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 คดีของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16781/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. - ตัดสิทธิฟ้องร้องนอกกระบวนการพิเศษตามกฎหมาย
การดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ที่มีผลใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่า กรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและมีบทบัญญัติในหมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 ว่าด้วยการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดกระบวนการในการไต่สวนและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภา บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบและไต่สวนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. กลั่นแกล้งฟ้องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โดยง่าย เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหลุดพ้นจากความผิดทางอาญา เพราะผู้เสียหายอาจร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แล้วเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งต้องถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 17 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ หมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 จึงยังสามารถดำเนินการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14929/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริต: การส่งเรื่องจาก ป.ป.ช. ให้ตำรวจสอบสวนตามประกาศ คปค. ชอบด้วยกฎหมาย
ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 6 กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ต่อไปก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยทั้งสองซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้พิจารณาเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยทั้งสองแล้วมีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคุระบุรีดำเนินการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคุระบุรีในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13307/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่หนี้ตาม ป.พ.พ. จึงไม่มีอายุความ
การกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง หรือร่ำรวยผิดปกติซึ่งรวมถึงการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75, 80 และมาตรา 81 นั้น ต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่งเพื่อชำระหนี้ตามมูลแห่งหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะการที่ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้อง แม้เป็นการบังคับเอาจากทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นผลให้ผู้คัดค้านต้องสูญเสียทรัพย์สินหากพิสูจน์ได้ว่ามีการได้ซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบตามเงื่อนไขที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ก็เป็นผลจากการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบด้วยหน้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประพฤติทุจริตไม่อาจยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปอันเป็นผลทางกฎหมายที่มิได้ก่อขึ้นจากหนี้อันเป็นมูลเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ และอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 75 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ต้องกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติภายในสองปีนับแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และมาตรา 83 ได้บัญญัติให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในสิบปี เป็นบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อเร่งรัดให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุตามข้อกล่าวหา ทำนองเดียวกับมาตรา 81 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการกำหนดหน้าที่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย หาใช่การใช้สิทธิเรียกร้องที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความและเพียงการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 80 บัญญัติว่า ให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีตาม (2) (3) (4) โดยอนุโลมก็เป็นการกำหนดถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ด้วยแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12376/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต: การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แม้ขณะจำเลยกระทำความผิดอยู่ในบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่ ศ. เจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว การสอบสวนจำเลยจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ พ.ร.บ. นั้นไม่มีมาตราใดบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์ไว้มีอำนาจสอบสวนได้ แต่มาตรา 89 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ต่อไป" ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจึงต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจึงชอบด้วยกฎหมายและการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองไม่ได้สอบสวน จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19299/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไม่กระทบอำนาจสอบสวนเดิม และการพิจารณาคดีตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเท่านั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในการพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องพิจารณาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 ที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ แม้ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 2