คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผลกระทบทางภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9484/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกค้าต่อโจทก์เมื่อผิดสัญญาซื้อขายและผลกระทบทางภาษีของดอกเบี้ยค้างรับ
สาระสำคัญของสัญญาทำธุรกิจเพื่อส่งออกมีว่า โจทก์จะจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้าให้แก่ลูกค้าหรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาให้ลูกค้าผลิตสินค้าเงินที่โจทก์นำมาจ่ายให้แก่ลูกค้าหรือรับภาระแทนลูกค้านั้น โจทก์ได้มาจากธนาคารพาณิชย์โดยนำแอลซีไปวางเป็นประกันต่อธนาคารพาณิชย์ที่เรียกว่าการทำแพคกิ้งเครดิตกับธนาคารหรือโจทก์ออกตั๋วแลกเงินนำไปขายลดให้แก่ธนาคาร ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ลูกค้าจะต้องชำระคืนให้โจทก์ทั้งสิ้นตามจำนวนที่โจทก์จ่ายให้ธนาคาร ในกรณีที่ลูกค้าส่งสินค้าออกได้ตามกำหนดและมีการชำระเงินตามแอลซีหรือตั๋วแลกเงินแล้ว โจทก์จะหักกลบลบหนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เสียก่อน รวมทั้งค่าบริการที่โจทก์ให้แก่ลูกค้าตามอัตราที่ตกลงกันไว้เหลือเงินเท่าใดจึงชำระให้แก่ลูกค้า แต่ถ้าลูกค้าผิดสัญญาตามสัญญาทำธุรกิจเพื่อส่งออก ข้อ 9 ระบุว่า ลูกค้าจะต้องคืนเงินทดรองจ่ายหรือเงินค่าสินค้าล่วงหน้าที่โจทก์ได้ชำระไปแล้ว รวมทั้งลูกค้าต้องชำระค่าปรับ ค่าเสียหายต่าง ๆ ค่าวัตถุดิบหรือวัสดุที่ซื้อจากต่างประเทศและค่าดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และข้อ 11 ระบุว่าในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดไม่ชำระหนี้ ลูกค้ายินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ลูกค้าผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามแอลซีหรือไม่ส่งสินค้าออก ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าสินค้าบวกค่าปรับ และโจทก์จะต้องชำระค่าภาษีในการนำเข้าและเบี้ยปรับในการนำสินค้าเข้าหรือในกรณีที่โจทก์นำตั๋วแลกเงินไปขายลด ธนาคารจะเรียกให้โจทก์ชำระเงินตามตั๋วพร้อมทั้งดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์ต้องชำระเงินต่าง ๆ ดังกล่าวเท่าใด โจทก์ก็จะเรียกเอาจากลูกค้าที่ผิดสัญญาเท่านั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่า เมื่อลูกค้าของโจทก์ผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์โดยไม่มีการส่งออกสินค้าตามสัญญาทำธุรกิจเพื่อส่งออก ข้อ 9 โจทก์ย่อมต้องรับผิดต่อธนาคารชำระเงินรวมทั้งดอกเบี้ยทันที ดังนั้นลูกค้าที่ผิดสัญญาก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ทันทีนับแต่วันที่โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคาร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกค้าที่ผิดสัญญารับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคารนับแต่วันที่ลูกค้าผิดสัญญา หาใช่โจทก์จะต้องชำระเงินให้แก่ธนาคารเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกให้ลูกค้าที่ผิดสัญญารับผิดต่อโจทก์ไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะให้ลูกค้าต้องรับผิดยังไม่แน่นอนจนกว่าลูกค้าจะมารับสภาพหนี้ต่อโจทก์เสียก่อนนั้น โจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าในขณะที่ลูกค้าผิดสัญญาต่อโจทก์นั้น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยอัตราใดเอาแก่โจทก์ทั้งการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยธนาคารมิใช่ข้ออ้างที่จะไม่ต้องลงบัญชีในดอกเบี้ยค้างรับที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากลูกค้าที่ผิดสัญญา แม้ดอกเบี้ยค้างรับจะมิใช่รายได้จากการประกอบกิจการโดยตรงของโจทก์ แต่ก็เป็นรายได้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องนำลงบัญชีเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดดอกเบี้ยค้างรับนั้น ตามมาตรา 65 วรรคสอง
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าถ้าดอกเบี้ยค้างรับของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ โจทก์ย่อมมีสิทธิหักเป็นรายจ่ายในจำนวนเดียวกันได้ ทำให้ไม่มีเงินได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีนั้น ข้อที่ว่าเงินรายได้ที่โจทก์ถูกประเมินเพิ่มเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้จะนำไปหักเป็นรายจ่ายได้หรือไม่เพียงใด ไม่เป็นประเด็นในคดีและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้าและการใช้ประโยชน์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่น ระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดอัตราศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าพิกัด 8307.10 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่ามีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า สินค้าพิพาทจัดเข้าประเภทพิกัด 7326.209 นั้น เห็นว่า ความเห็นแย้งดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีตามราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นจำนวนเงินค่าอากรเท่าใด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ และใน ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร ก็ต้องปรับจำนวนฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามราคาสินค้าบวกค่าอากรขาเข้าที่ถูกต้องตามผลคดีที่โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าเพื่อให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พิกัดอัตราอากรศุลกากรและผลกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้แม้ไม่มีการอุทธรณ์
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การเสียค่าภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้" มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสําหรับของที่นําเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นําของเข้าสําเร็จ" วรรคสอง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 87 และมาตรา 88 การคํานวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น..." และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติเรื่องการตีความพิกัดศุลกากรว่า "การตีความให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ ประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ซึ่งทำเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2493 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515" เห็นว่า สินค้าพิพาทประกอบด้วยเส้นลวดกลมพันเป็นเกลียว มีชั้นพลาสติกคลุมด้านนอก และมีท่อพลาสติกด้านในตรงตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ตอนที่ 83.07 ดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 เคยพิจารณาว่าท่อชิ้นนอก (ลวดเหล็กม้วนวนเป็นเกลียว) หรือ Outer Spring นำมาผลิตเป็นสายคลัตซ์รถยนต์ จัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 ซึ่งโจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า Outer Spring มีโครงสร้างคล้ายกับ Outer Shield หรือสินค้าพิพาท แต่ชั้นที่ 2 ชั้นกลางจะเป็นลวดเหล็กทับแบนม้วนวนเป็นเกลียวและ Outer Spring จะทำแรงดึงและดันได้น้อยกว่า Outer Shield หรือสินค้าพิพาทที่มีเส้นลวดเหล็กทรงกลมหลายเส้นพันรอบหลอดที่เป็นพลาสติก ดังนั้น ลักษณะของสินค้าที่พิพาทกันเรื่องอากรขาเข้าคดีนี้ จึงตรงกับลักษณะลวดที่ขดเป็นเกลียวแน่น และมีลักษณะการใช้งานไม่ต่างกับสินค้าที่จำเลยที่ 1 เคยวินิจฉัยว่าจัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 นอกจากนี้ศุลกากรของประเทศอื่นซึ่งใช้กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์เช่นเดียวกับประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหราชอาณาจักรเคยวินิจฉัยสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าพิพาทว่าเป็นประเภทพิกัด 8307.10.00 ประกอบกับเมื่อสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า "ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้างๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ..." เห็นว่า สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าสินค้าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ..." เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีคือราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร เป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร ..." ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กรณีนี้จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอีก ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามการประเมินได้รวมอากรขาเข้าที่ไม่ถูกต้องและโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าแล้วศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26