คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผลประโยชน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 134 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนในคดีแรงงาน: ศาลต้องพิจารณาความเสียหายและผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน..." ดังนี้ หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางจะลดลงก็ได้ แต่ต้องลดเป็นจำนวนพอสมควร และในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ และนำสืบถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถือหุ้นและการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์: ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายและการขาดเจตนาทุจริต
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่โจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเป็นเอกสารราชการ และนาง ส. กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนบุตรสาวของนาง ส. โดยโจทก์มีเพียงนาง ส. เท่านั้นมานำสืบ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
จำเลยที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจากนาง ส. ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กัน โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับ เครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำเช่นนี้ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากที่บ้านของจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และจำเลยที่ 3 ผู้รับฝากทรัพย์ข้างต้นย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีทุจริตต่อหน้าที่ และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งเป็นเหตุร้ายแรงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
อ. เรียกเงินจาก ผ. เป็นค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกติดต่อซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์ โดย อ. มีหน้าที่รับผิดชอบซ่อมแซมเครื่องจักร และบางครั้งสามารถสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาจัดซื้อ แม้ว่าการสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ อ. ก็ตาม แต่ อ. ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับโจทก์เป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้บุคคลภายนอกขาดความเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และการกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ และเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งกำหนดให้ลงโทษเพียงการไล่ออกขั้นตอนเดียว เมื่อ อ. กระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 (4) โจทก์มีสิทธิเลิกจ้าง อ. ลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงประชาชน: การหลอกลวงโดยอ้างความสามารถทางไสยศาสตร์เพื่อหวังผลประโยชน์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน วันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นประชาชน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งแปด ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละคนจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนใดเมื่อวันเดือนปีใดและหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนกี่ครั้งหรือได้เงินจากผู้เสียหายแต่ละรายครั้งละเท่าใด เงินที่ได้จากการหลอกลวงนำไปใช้เป็นค่าซื้อแพะกี่ตัว เป็นเงินเท่าใด เงินที่มิได้นำไปซื้อแพะมีเท่าใด หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับจากผู้เสียหายแต่ละรายเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแล้ว
แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่พูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่าจะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวยได้ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ความว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ว่า จะต้องใช้เงินซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยซึ่งจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยได้ ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่อย่างใด ศาลจึงมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7143/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หลักฐานการโอนเงินและผลประโยชน์ที่ลูกหนี้ได้รับเพียงพอต่อการพิสูจน์หนี้
เจ้าหนี้ยื่นคำแถลงชี้แจงพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ส่วนหนึ่งประกอบคำแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 และยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2544 ซึ่งผู้ทำแผนมีเวลาที่จะคัดค้านว่าต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอม หรือสำเนาไม่ถูกต้อง หรือนำพยานหลักฐานเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อหักล้างข้ออ้างของเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนก็มิได้กระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 เช่นนี้ จึงถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมพยานหลักฐานสำหรับการพิสูจน์มูลหนี้ที่ขอรับชำระโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93
สัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันนั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น หากคู่สัญญานำสืบพยานหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่า คู่สัญญาแสดงเจตนาเข้าทำสัญญากันจริงแล้วคู่สัญญาย่อมผูกพันตามข้อตกลงในสัญญานั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5138/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ให้เช่าซื้อที่มุ่งหวังผลประโยชน์จากการรับชำระค่าเช่าซื้อมากกว่าการปฏิบัติตามสัญญา
เมื่อสัญญาเช่าซื้อครบกำหนดแล้ว ผู้ร้องยังคงให้ผู้เช่าซื้อครอบครองใช้รถที่เช่าซื้อตลอดมาเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ โดยมิได้บอกเลิกสัญญา แต่ยังรับผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ตลอดมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องยินยอมให้ผู้เช่าซื้อครอบครองใช้รถเพื่อให้ผู้ร้องยังคงได้รับชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างนั่นเอง ต่อเมื่อผู้ร้องทราบว่ารถที่เช่าซื้อถูกริบในคดีนี้จึงบอกเลิกสัญญาแก่ผู้เช่าซื้อ ซึ่งผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่ขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อได้ แต่กลับมาใช้สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์ที่ถูกริบในคดีในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์แทน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าผู้ร้องมุ่งประโยชน์จากการได้รับชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เช่าซื้อมากกว่าถือปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ให้เช่าซื้อ การร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดอำนาจศาล: นายประกันอาชีพหลอกลวงศาลด้วยเอกสารเท็จเพื่อผลประโยชน์
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นนายประกันอาชีพเห็นอยู่แล้วว่าหนังสือมอบอำนาจที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหายังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ลงไว้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ย่อมจะทราบได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะมอบอำนาจให้ใครกระทำการใดแทนนั้น ย่อมต้องมีการระบุข้อความที่มอบอำนาจไว้อย่างแน่นอนและชัดเจน แต่ได้มีการนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาให้ ส. กรอกรายการในขณะนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ยืนอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะรู้ว่าเกิดมีเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้น ควรที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กลับส่งเสริมให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ให้นำเอาเอกสารที่ไม่ชอบเหล่านั้นไปยื่นต่อศาล โดยแนะนำด้วยว่าให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่คนใดจึงจะสะดวกและรวดเร็ว พร้อมกับยอมรับเป็นผู้รับส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลอีก พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำการหลอกลวงศาลให้มีคำสั่งโดยผิดหลงว่าหลักฐานที่นำยื่นเข้ามาเป็นเอกสารที่ถูกต้อง จนมีคำสั่งอนุญาตตามความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กับพวก อันเป็นทางได้มาซึ่งผลประโยชน์ 10 เปอร์เซ็นต์ของหลักประกันที่ศาลตีราคา จึงถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) และมาตรา 33
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2796-2801/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีบริษัทเลิก: รายได้จากการขายทรัพย์สินหลังเลิกบริษัท ไม่ใช่เงินปันผล แต่เป็นผลประโยชน์ที่ต้องแบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้น
ป. รัษฎากรไม่ได้บัญญัติถึงความหมายของ "เงินปันผล" ไว้โดยเฉพาะ การพิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากผู้ชำระบัญชีของบริษัท ข. เป็นเงินปันผลหรือไม่ ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ที่บัญญัติเกี่ยวกับเงินปันผลและเงินสำรองของบริษัทจำกัดในบรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ข้อ 5
ป.พ.พ. มาตรา 1200 , 1201 วรรคสาม และ 1202 แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกำไรที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีที่ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้ และเพื่อไม่ให้บริษัทนำผลกำไรที่ได้รับดังกล่าวมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมดจนขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ มาตรา 1202 จึงบังคับให้บริษัทต้องจัดสรรกำไรที่ได้รับจากการประกอบกิจการส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินทุนสำรองทุกคราวที่จ่ายเงินปันผล แต่เมื่อบริษัทเลิกกัน ป.พ.พ. ได้บัญญัติถึงการชำระบัญชีไว้โดยเฉพาะในหมวด 5 โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ในมาตรา 1250 และ 1259 นอกจากนี้ ป. รัษฎากร มาตรา 72 วรรคสอง ยังบัญญัติให้ถือว่า วันที่จดทะเบียนเลิกบริษัทเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีตามแบบและเวลาภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 68 และ 69 โดยอนุโลม ดังนั้น ระหว่างการชำระบัญชีของบริษัท ข. แม้จะถือว่าบริษัทดังกล่าวยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัทขายทรัพย์สินของบริษัทและดำเนินกิจการต่าง ๆ หลังจากจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทมีรายได้ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ขยายออกไปโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรตามมาตรา 72 วรรคสาม เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่ ป.พ.พ. ได้กำหนดไว้ระหว่างที่การชำระบัญชียังไม่เสร็จ เพื่อชำระสะสางการงานให้สิ้นไป และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น รายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชีดังกล่าวที่เหลืออยู่หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงมิใช่ผลกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทและเป็นสินทรัพย์ที่ต้องแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วน เมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้ว หรือเมื่อชำระบัญชีเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1269
เงินที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับจากผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชีไม่ใช่เงินปันผลตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (4) (ข) แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์แต่ละคนลงทุนในบริษัทดังกล่าว และไม่มีสิทธินำไปเครดิตภาษี ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 47 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2796-2801/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินที่ได้รับหลังเลิกบริษัท ไม่ใช่เงินปันผล แต่เป็นผลประโยชน์จากการเลิกบริษัท ไม่อาจขอเครดิตภาษีได้
ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า "เงินปันผล" ไว้โดยเฉพาะการพิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากผู้ชำระบัญชีของบริษัท ข. เป็นเงินปันผลหรือไม่จึงต้องพิเคราะห์จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับเงินปันผลและเงินสำรองของบริษัทจำกัดไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ22 หมวด ส่วนที่ 3 ข้อ 5 ตั้งแต่มาตรา 1200 ถึงมาตรา 1205
ในระหว่างการชำระบัญชีของบริษัท ข. แม้จะถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่การที่ผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินและดำเนินการต่าง ๆหลังจากจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทมีรายได้ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ขยายออกไป ก็เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ในระหว่างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นเพื่อชำระสะสางการงานของบริษัทให้สิ้นไป และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเท่านั้นรายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นในระหว่างการชำระบัญชีที่มีเหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงมิใช่ผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทและเป็นทรัพย์สินของบริษัทที่จะต้องแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนเมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้วหรือเมื่อชำระบัญชีเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ข. เมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว จึงมิใช่เงินปันผลที่ได้จากบริษัทซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่บริษัทเลิกกัน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์แต่ละคนลงทุนในบริษัท โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสโดยเจตนาหลอกลวงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางเงินบำเหน็จตกทอด ถือเป็นโมฆะ
การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
of 14