คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผลประโยชน์ขัดแย้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6919/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทนายความที่มีลักษณะซื้อขายความเป็นโมฆะ
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงให้เงินรายละ 400,000 บาทและจำเลยที่ 4 ตกลงให้เงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าทนายความนั้นหมายถึงกรณีที่ฝ่ายจำเลยชนะคดีมรดกแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นที่ดิน แต่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทนั่นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องแบ่งให้โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลง บันทึกข้อตกลงจึงถือได้ว่าเป็นสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความเมื่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกความชนะคดีเท่านั้นหากจำเลยทั้งสี่ตกเป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์ย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลง อันมีลักษณะเข้าทำนองซื้อขายความกัน
วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการผู้ที่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทนายความจึงไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองเข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลคดีโดยตรงในทำนองซื้อขายความกันย่อมไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
แม้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติทนายความฯ จะมิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความกับลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประสานงานเสนอขายที่ดินให้หน่วยงานรัฐมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม จึงตกเป็นโมฆะ
จำเลยได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินให้เสนอขายที่ดินแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์คลังพัสดุและได้มีการยื่นซองประกวดราคาแล้ว ต่อมาจำเลยได้ขอให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการขายที่ดินดังกล่าว โดยจำเลยตกลงจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท ในวันที่ทำการโอนขายที่ดินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นจำเลยได้ทำข้อตกลงว่าจำเลยจะให้ค่าใช้จ่ายแก่โจทก์เพิ่มเป็นเงินจำนวน 8,000,000 บาท ในที่สุดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้เสนอขาย แต่ในการจัดซื้อที่ดิน องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. จัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ. ศ. 2497 และข้อบังคับที่ออกสืบเนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าว การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรอยู่ในฐานะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีโอกาสเหนือกว่าเอกชนรายอื่นในการเสนอขายที่ดินให้แก่รัฐวิสาหกิจด้วยกัน ได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการเสนอขายที่ดินดังกล่าวให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จึงมีความหมายยิ่งกว่าการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเชิงธุรกิจ เมื่อโจทก์และ ศ. ซึ่งเป็นประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต่างเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการบริหารและยุติธรรมของวุฒิสภาด้วยกันโดยโจทก์ได้รับเลือกจาก ศ. ให้เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ดังนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ ศ. จึงผูกพันลึกซึ้งยิ่งกว่าการรู้จักกันโดยปกติธรรมดาทั่วไป อาจทำให้เอกชนรายอื่นที่ต้องเสนอราคาแข่งขันกับจำเลย ตกเป็นผู้เสียเปรียบจำเลย ทั้งยังกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐที่อาจต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจากการซื้อที่ดินในราคาที่ขาดการแข่งขันตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพที่ดินนั้น ถือได้ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นข้อตกลงที่ร่วมกันเอาเปรียบต่อองค์กรของรัฐส่อไปในทางแทรกแซงการบริหารราชการในองค์กรของรัฐ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามที่จำเลยจะให้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มนี้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีแทนผู้ตาย: ภริยาจำเลยไม่อาจเป็นผู้ดำเนินคดีได้เนื่องจากอาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
โจทก์ร่วมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นภริยาจำเลย อาจทำให้พยานหลักฐานโจทก์เสียหายได้ จึงไม่เป็นการสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ: ศาลมีดุลพินิจพิจารณาความเหมาะสมและความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์
การอนุญาตให้บุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเหตุสมควร โดยศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ แม้โจทก์จำเลยจะเป็นพี่น้องกัน แต่ก็เป็นคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หากยอมให้โจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย โจทก์ย่อมต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นคุณแก่โจทก์ อันเป็นการขัดต่อความประสงค์ของจำเลยผู้มรณะอย่างเห็นได้ชัด ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์สินกองมรดกโดยผู้จัดการมรดกที่เป็นคู่กรณี เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722
การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ร่วมกับโจทก์ เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเองประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 สัญญาแบ่งทรัพย์นั้นจึงตกเป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะ เพราะทำขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้มีคำขอเกี่ยวกับทรัพย์สินตามสัญญานั้นแต่อย่างใด เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214/2494 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจถอนคำร้องทุกข์ของผู้เยาว์อายุ 17-18 ปี: ผู้เยาว์มีสิทธิตัดสินใจเองได้หากผลประโยชน์ขัดแย้งกับผู้ปกครอง
ในกรณีที่ผู้เยาว์อายุ 17-18 ปี ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานด้วยตนเอง จนมีการสอบสวนและอัยการได้ดำเนินการฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวอันกระทำแก่ผู้เยาว์ฐานข่มขืนชำเราแล้วบิดาของผู้เยาว์ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนคำร้องทุกข์ ซึ่งเป็นการขัดขืนฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์นั้น ศาลย่อมพิเคราะห์ตามรูปเรื่องแห่งคดีนี้เห็นว่าบิดาไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ที่ผู้เยาว์ได้ยื่นไว้ โดยฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1297/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการในการถอนฟ้องคดี: ผลผูกพันต่อบริษัทและข้อยกเว้นผลประโยชน์ขัดแย้ง
ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารแนบท้ายคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และ ธ. เป็นกรรมการของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และ ธ. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์และถือว่าโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ขอถอนฟ้องของโจทก์แทนโจทก์และมีผลผูกพันโจทก์แล้ว การถอนฟ้องคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ ผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกันจะถือว่าผลประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 74 ไม่ได้