คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ขนส่งทางทะเล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล การฟ้องขาดอายุความ และการแบ่งแยกมูลละเมิดกับมูลการรับขน
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 อันเป็นบทมาตราที่กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้โดยเฉพาะ ส่วนที่มาตรา 58 บัญญัติให้การจำกัดความรับผิดต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 60 (1) ที่จะไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้นั้นต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดจากการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ระมัดระวังทำให้เกิดการกระแทกเป็นเหตุให้ลังไม้ที่บรรจุสินค้า 1 ลัง แตกหัก สินค้าหลุดออกมาจากลังไม้ได้รับความเสียหาย จำเลยหรือตัวแทนไม่ได้กระทำหรืองดเว้นกระทำการประการใด โดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการเสียหายหรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 60 (1) ดังนี้ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร จึงต้องนำ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ประกอบด้วยมาตรา 58 และ 60 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ขนส่งที่รวมถึงกรณีละเมิดด้วยแล้วไว้โดยเฉพาะมาใช้บังคับ จะนำลักษณะละเมิดของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้
การขนส่งสินค้าครั้งพิพาทเป็นการขนส่งภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ส่งนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เอง โดยนำสินค้าของผู้ส่งหลายรายรวมไว้ในตู้เดียวกัน เมื่อถึงปลายทางผู้ขนส่งเป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์เอง แล้วนำสินค้าของผู้ส่งแต่ละรายไปเก็บไว้ในคลังสินค้ารอผู้รับตราส่งมารับสินค้า บริษัท ท. นำใบสั่งปล่อยสินค้าไปดำเนินวิธีทางศุลกากรและออกของ และไปติดต่อขอรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่า สินค้าได้รับความเสียหาย จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่แท้จริงให้แก่ผู้รับตราส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (1) กรณีไม่ใช่เป็นการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ให้แก่ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรับตู้ไปเปิดเอง ซึ่งจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือตามมาตรา 40 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งทางทะเล: การคำนวณค่าเสียหายตามน้ำหนักและอัตราจำกัด, การจำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล
ข้อตกลงระหว่างบริษัท ท. ผู้ส่ง กับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งผ่านทางจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเงื่อนไขในการขนส่งกำหนดว่า ผู้ส่งมีหน้าที่เพียงหีบห่อและผูกมัดสินค้าม้วนเหล็กไว้บนฐานรองไม้ให้เรียบร้อยแล้วส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือ โดยต้องชำระเงินทั้งค่าระวางและค่ารัดตรึงสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งไปในคราวเดียวกัน จากนั้นทางฝ่ายผู้ขนส่งตามสัญญารับขนระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปทั้งในเรื่องการบรรจุ การรัดตรึงสินค้าและการขนส่ง และตามใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้ไว้แก่บริษัท ท. อันถือเป็นหลักฐานแห่งการรับสินค้า ระบุไว้ว่าผู้ขนส่งสินค้ารับสินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อยดีและไม่มีการบันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับสภาพสินค้าและการหีบห่อเมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างการขนส่ง จึงถือไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของบริษัท ท. ผู้ส่ง หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาที่ทำกับบริษัท ท. ที่ไม่ได้บรรจุและรัดตรึงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ และไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสินค้าขณะอยู่ในความดูแลของตนเองให้ดีพอ เมื่อความเสียหายไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งจึงไม่อายปฏิเสธความรับผิดชอบ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 52 (9) ได้ เมื่อผู้ขนส่งต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ตกลงทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงต้องรับผิดตามสัญญาด้วย เมื่อ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดระบุข้อยกเว้นให้ตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 824 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบังคับใช้กับสัญญาโดยทั่วไป
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าม้วนเหล็กระบุจำนวนสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,676.40 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินบาทจำนวน 1,369,154.01 บาท และปรากฏตามเอกสารซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นรายงานการสำรวจความเสียหายพร้อมคำแปลระบุรายละเอียดค่าเสียหายเป็นดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทจำนวนตรงกัน โดยมีรายละเอียดของสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กนอกเหนือจากที่ระบุในฟ้องแต่ตรงกับที่โจทก์ระบุขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดไป การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์เพื่อขอเพิ่มเติมจำนวนสินค้าม้วนเหล็กที่ได้รับความเสียหายเป็นการแก้ไขรายละเอียดให้ตรงตามยอดค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ระบุไว้ตั้งแต่แรก จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่โจทก์ได้สืบพยานไปแล้ว 1 ปาก ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า" ส่วนมาตรา 60 บัญญัติว่า การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวไปนี้... (4) ผู้ส่งของได้แจ้งราคาของที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่ง เมื่อพิจารณาใบตราส่งไม่ปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุราคาของหรือสินค้าเหล็กม้วนพิพาทไว้ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้ใช้มาตรา 58 บังคับตามความในมาตรา 60 ดังกล่าว จึงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า แต่ในกรณีที่คำนวณราคาของหรือสินค้าที่สูญหายหรือเสียหายได้มาตรา 61 แล้ว ปรากฏว่าของนั้นราคาต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าวข้างต้นให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น การคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61 ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของนั้นสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กสแตนเลสมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ ดังนั้น แผ่นเหล็กสแตนเลส 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง และเนื่องจากแผ่นเหล็กสแตนเลสดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของแต่ละม้วนที่เสียหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งมีจำนวนเงินมากกว่าการคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งทางทะเล: ข้อตกลงต้องชัดเจนและมีผลผูกพันตามกฎหมายไทย
มูลคดีตามฟ้องเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย ไม่อาจนำ พระราชบัญญัติ เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาใช้บังคับเพื่อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่ารับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติอยู่ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขน ในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี
การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4(5)แห่ง พระราชบัญญัติ รับขนของทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เท่ากับเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 แม้จะมีตราประทับชื่อของบริษัทผู้ส่งและมีการลงลายมือชื่อไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ลงลายมือชื่อเป็นใคร มีอำนาจกระทำแทนบริษัทผู้ส่งอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งไม่มีข้อความระบุว่าลงลายมือชื่อเพื่อจุดหมายใด อาจเป็นการลงลายมือชื่อรับคู่ฉบับหรือสำเนาเอกสารก็ได้ เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้ และไม่อาจใช้ยันบริษัทผู้รับตราส่งซึ่งได้รับสิทธิมาจากผู้ส่งตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง.(ที่มา-ส่งเสริม)