คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ขายผิดสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10225/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: ความผิดของผู้ขายที่ไม่สามารถส่งมอบที่ดินได้เนื่องจากสิทธิครอบครองของผู้อื่น
ตามข้อ ๒ ของสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยมีหน้าที่ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปลอดจากภาระผูกพัน หากมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาทจำเลยก็ต้องฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกไปจากที่ดินพิพาท สำหรับสัญญาข้อ ๓ ที่โจทก์ตกลงจะออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องร้องให้จำเลยนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาท มิได้เป็นสาระสำคัญของสัญญา แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยต่างหากจากข้อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท กล่าวคือหากโจทก์ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องให้แก่จำเลย จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องฟ้องร้องผู้บุกรุกให้ออกไปจากที่ดินพิพาทเพื่อนำที่ดินพิพาทส่งมอบให้โจทก์เช่นเดิม หากจำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไปเป็นจำนวนเท่าใดแล้วโจทก์ไม่ชำระ จำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนนี้จากโจทก์ได้ ดังนั้น แม้จำเลยยื่นฎีกาในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ผู้ร้องสอดโดยโจทก์มิได้ออกค่าใช้จ่ายในชั้นฎีกาให้ ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย
ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้ฟ้องขับไล่ผู้ร้องสอดออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิครอบครองแล้ว จำเลยหมดสิทธิเรียกคืน คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด จากผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอีกต่อไปและไม่อาจโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ แม้จำเลยจะยังมีชื่อในที่ดิน น.ส.๓ ที่พิพาทและผู้ร้องสอดได้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลย /แต่แต่อย่างใด และเมื่อจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย และกรณีเช่นนี้ก็มิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ แต่เป็นความผิดของจำเลยเอง จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยโดยรู้อยู่แล้วว่าขณะนั้นผู้ร้องสอดได้แย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยอยู่ แสดงว่าโจทก์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยเสี่ยงภัยเอง เพราะรู้อยู่ว่าหากจำเลยแพ้คดีจำเลยก็ไม่อาจโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป และโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าโจทก์เสียหายเป็นจำนวนเท่าใด ศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามจำนวนที่เหมาะสมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5459/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดิน: ผู้ขายมีหน้าที่ชี้แนวเขตและแบ่งแยกที่ดินให้ชัดเจนก่อนโอน
ตามกฎหมายเจ้ากรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกันทุกตอนในที่ดินทั้งแปลงนั้น แต่ในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเอง อาจอ้างการครอบครองเป็นส่วนสัดตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการครอบครองต่อกันได้ โดยตกลงแบ่งที่ดินกันเองแล้วลงชื่อรับรองหลักเขตที่เจ้าพนักงานที่ดินปัก เพื่อรังวัดแบ่งแยกซึ่งเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์กันเองอันมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 โดยถือว่าเป็นเรื่องของความยินยอมของเจ้าของรวมทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้เป็นเช่นนั้นแต่การครอบครองเป็นส่วนสัดดังกล่าวนี้มิได้เป็นผลถึงกับจะทำให้ที่ดินเป็นอีกแปลงหนึ่งต่างหากจากที่ดินแปลงใหญ่ในโฉนดเดิมนั้นไปได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกโฉนดออกจากกันก็ต้องถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวโฉนดเดียวกันอยู่ จำเลยอ้างว่ามีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดทั้งแปลงคิดเป็นเนื้อที่ 35 ไร่ ได้ตกลงขายให้โจทก์ทั้งหมด แต่จำเลยยังมิได้ขอให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกที่ดินเนื้อที่ 35 ไร่ของจำเลยออกเป็นส่วนสัดมีเขตกว้างยาวแน่นอน โดยได้รับความยินยอมของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมรายอื่นแล้ว จำเลยเพียงแต่เข้าใจเอาเองว่าที่ดินส่วนของจำเลยอยู่ตรงไหนและไม่แน่ชัดว่าโจทก์ได้รับทราบว่าที่ดินของจำเลยอยู่ตรงส่วนไหน และมีแนวเขตกว้างยาวเท่าใด แน่นอนแล้ว ดังนั้นเมื่อจำเลยตกลงจะขายที่ดินส่วนของจำเลยเนื้อที่ 35 ไร่ แก่โจทก์โดยยังมีผู้อื่นอีกหลายรายถือกรรมสิทธิ์ปะปนกันอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรังวัดแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนให้โจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจะเพียงแต่จดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมรายอื่น ๆ ในโฉนดโดยอ้างว่าไม่มีข้อตกลงดังกล่าวในสัญญาหาได้ไม่เมื่อจำเลยไม่ยอมยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกและนำชี้เขตที่ดินในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์เข้าสวมสิทธิที่จะขอแบ่งกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของจำเลยได้ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้ในสัญญาจะซื้อขายมีข้อกำหนดว่าถ้าผู้จะขายผิดสัญญายอมใช้ค่าเสียหายแก่ผู้จะซื้อเป็นจำนวนสองเท่าของราคาขายอันเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่ผู้จะขายผิดสัญญา แต่โจทก์นำสืบไม่พอฟังได้ว่าโจทก์ได้เสียหายไปอย่างไร เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3165/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าปรับควบคู่กับการบอกเลิกสัญญาซื้อขาย หากผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญา
สัญญาซื้อขายมีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้วถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรแต่ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันกับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ คดีนี้เมื่อโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาไม่ปรากฏว่าจำเลยแสดงเจตนาที่จะขอปฏิบัติตามสัญญาต่อไปอีก ทั้งการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งขอสงวนสิทธิการปรับตามสัญญาไปยังจำเลยก็หาใช่เป็นการใช้สิทธิปรับจำเลยเป็นรายวันตามสัญญาแล้วไม่ ดังนี้ต่อมาเมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญากรณีจึงไม่ใช่เป็นการเลิกสัญญาในระหว่างที่มีการปรับ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันจากจำเลยได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อตามสัญญาจะซื้อขาย: ผู้ขายผิดสัญญาต้องชำระหนี้หรือถูกบังคับให้โอนขาย, มิสามารถเลือกคืนเงินมัดจำได้
สัญญาจะซื้อขายระบุว่า ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนด ผู้จะขายจะยอมให้ผู้จะซื้อปรับ20,000 บาท อีกส่วนหนึ่งด้วย โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุให้สิทธิผู้จะขายเลือกปฏิบัติไม่ยอมขายที่ดินให้ผู้จะซื้อ ผู้จะซื้อเท่านั้นจึงเลือกเรียกเอาเบี้ยปรับหรือเรียกร้องให้ผู้จะขายชำระหนี้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 380 เมื่อโจทก์ผู้จะซื้อเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายให้ขายที่ดินตามสัญญา และสภาพแห่งหนี้ก็เปิดช่องให้ศาลบังคับได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติด้วยการขอคืนเงินมัดจำและยอมชำระค่าปรับให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3547/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายกระป๋อง: สิทธิในการเรียกร้องราคาขึ้นอยู่กับการส่งมอบสินค้าให้ครบถ้วน ผู้ขายผิดสัญญาหากส่งมอบไม่ครบ
โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งกระป๋องให้แก่จำเลยให้ครบตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ โดยในสัญญามิได้ระบุว่าแม้โจทก์จะยังส่งกระป๋องให้จำเลยไม่ครบจำนวนโจทก์ก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากจำเลยได้ ดังนี้ เมื่อโจทก์ส่งกระป๋องให้แก่จำเลยไม่ครบจำนวนตามที่จำเลยสั่งซื้อ โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยชำระราคาได้ การที่จำเลยไม่ชำระราคาให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาไม่ส่งกระป๋องให้จำเลยให้ครบจำนวนหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ส่งกระป๋องให้จำเลยจนครบจำนวน โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2507

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อเมื่อผู้ขายผิดสัญญาซื้อขาย: บังคับให้โอนทรัพย์สินได้ในราคาเดิม
ผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อขาย ผู้ซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายโอนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นให้ได้ในราคาที่ซื้อขายกันเดิมถ้าราคาเดิมนั้นเป็นราคาที่ไม่น้อยเกินสมควร ผู้ขายจะปฏิเสธไม่ยอมโอนโดยอ้างว่าราคาทรัพย์สินในขณะฟ้องนั้นสูงขึ้นมากหาได้ไม่