คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ซื้อผู้ขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8275/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับตราส่งมีหน้าที่ชำระค่าระวางตามสัญญาขนส่ง แม้จะมีการตกลงเรื่องการว่าจ้างผู้ขนส่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
เมื่อจำเลยในฐานะผู้รับตราส่งแสดงเจตนาเข้ารับเอาสินค้าอันเป็นการเข้ารับเอาประโยชน์ตามสิทธิในใบตราส่งทางอากาศ จำเลยจึงย่อมมีความผูกพันต้องชำระเงินค่าระวางตามหน้าที่ของผู้ที่เข้ารับเอาประโยชน์ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าระวาง ไม่ว่าการตกลงว่าจ้างโจทก์ผู้ขนส่งในครั้งพิพาทนั้น จำเลยจะได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ด้วยตนเองหรือบริษัท ล. ผู้ส่งเป็นผู้ว่าจ้างเองตั้งแต่ที่ต้นทางหรือว่าจ้างแทนจำเลยหรือไม่ก็ตาม ส่วนสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัท ล. กับจำเลยจะกำหนดภาระหน้าที่ในเรื่องการขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยไว้อย่างไร ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยผู้ซื้อกับบริษัท ล. ผู้ขาย ซึ่งเป็นคู่สัญญากันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าไปเกี่ยวข้องยอมรับเงื่อนไขเกี่ยวกับหน้าที่ในการขนส่งสินค้าตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามสัญญารับขน นอกจากที่ตกลงกันไว้ในใบตราส่งทางอากาศด้วยแล้ว จำเลยต้องรับผิดตามความผูกพันในใบตราส่งทางอากาศ ชำระค่าระวางทั้งสองครั้งพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามฟ้องให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5915/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน: การแบ่งชำระหน้าที่ระหว่างผู้ซื้อผู้ขายตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าให้ต่างฝ่ายต่างออกคนละครึ่งตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขาย ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมคนละครึ่ง โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3687/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจะซื้อจะขาย และการบอกเลิกสัญญาเนื่องจากค่าธรรมเนียมการโอน
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมิได้กำหนดเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนไว้ด้วย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่า ฝ่ายจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียมในการโอนเองทั้งสิ้นนั้น เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายอันต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ข้ออ้างของโจทก์ว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์จะอาศัยข้ออ้างดังกล่าวมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 817/2524)
การจะเลิกสัญญากัน ได้นั้นต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติไว้ให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกสัญญาเอาเองโดยไม่มีข้อสัญญายินยอมกันหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้ สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนครึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ทั้งตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมออกค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2493

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายผิดนัด ผู้ซื้อต้องชำระราคาทรัพย์ที่เหลือให้แก่ผู้ขายตามสัญญา
คดีที่ฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย โดยให้ฝ่ายผู้ซื้อนำเงินราคาทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายกันมาวางศาล เพื่อชำระแก่ผู้ขายด้วยนั้น ให้ศาลเรียกค่าขึ้นศาลตามราคาทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อชำระแทนผู้ขาย และการขอคืนภาษีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและค่าภาษีในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ใช่จ่ายให้โจทก์ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผู้ซื้อออกแทนจึงไม่เป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าภาษีบำรุงท้องที่ และค่าอากรแสตมป์ ที่ผู้ซื้อออกแทน จะเห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงที่จะต้องเสีย ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ มีลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1)
การที่โจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเงิน 1,643,890.17 บาท เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเกินไปกว่าที่ควรต้องชำระ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขให้ต้องขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงจะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ เมื่อปรากฏว่า ในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งแรก โจทก์ขอคืนเงินมาในคำอุทธรณ์การประเมินภาษี มิได้เป็นการยื่นคำร้องขอคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งที่สอง ยังอยู่ในระหว่างที่จำเลยตรวจสอบและยังไม่มีคำวินิจฉัยในเรื่องการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้หลังจากการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเวลาเพียง 26 วัน เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานก่อนว่าโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และเจ้าพนักงานประเมินสามารถทราบได้แน่ชัดว่าโจทก์จะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14257/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายบ้าน การชำระเงินค่าบ้านที่ค้าง และการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ซื้อ
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 26/30, 26/26 และ 26/28 ให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองตามลำดับ ในราคาหลังละ 4,500,000 บาท ต่อมาเมื่อมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่อง หน้าที่ความรับผิดและทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาที่พิพาทในบ้านแต่ละหลัง จึงแยกจากกันตามสัญญาที่ทำไว้ ดังนั้นภาระหนี้ในบ้านแต่ละหลังจึงตกอยู่แก่โจทก์ตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ว่าจ้างให้ทำหินอ่อนขาวเพิ่มเติมในบ้านเลขที่ 26/26 จึงต้องชำระเงิน 198,040 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 26/26 ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์: เจตนาสุจริตของผู้ซื้อและเจตนาทุจริตของผู้ขาย
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น