พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6659/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขาย: หน้าที่ของผู้ขายในการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อเดิม & การประเมินค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
คดีก่อนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินทั้ง 83 แปลงที่บริษัท ศ.และส. ผู้ล้มละลายโอนให้โจทก์ไว้และอยู่ในระหว่างการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนการที่จะวินิจฉัยว่าการโอนที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่และจะเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ เพียงใด เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าต่อมาในภายหลัง ส.และบริษัทศ. ได้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัยถึงในคดีนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การโอนที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะจึงไม่ชอบ ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ข้อ 3 มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าทั้งผู้จะซื้อและผู้จะขายมีความประสงค์จะจัดการให้คดีทั้งหมดสิ้นสุดลงและจะจัดการให้ผู้ซื้อที่ดินจากผู้ขายคนเดิมได้รับที่ดินไปตามสัญญาซื้อขาย ผู้จะซื้อจึงรับว่าจะเป็นผู้ดำเนินการทางคดีโดยชอบเพื่อให้ที่ดินดังกล่าวหลุดพ้นจากภาระทั้งหมดนั้น ก็คือให้ผู้จะซื้อเข้ามารับภาระที่ผู้จะขายมีอยู่แทน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือรับชำระหนี้แทนผู้จะขายนั่นเอง เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการทางคดีโดยชอบหาใช่เป็นสัญญาจะโอนสิทธิในการดำเนินคดีหรือซื้อขายความที่วัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่ ที่ดินทั้ง 83 แปลง มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ถูก ว.และพ. ฟ้องให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30041 และที่ 30042 ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดการให้ว.และพ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินเดิมได้รับที่ดินไปตามสัญญา การที่จำเลยดำเนินการให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่บริษัท ท. ทั้งที่โจทก์ได้สอบถามจำเลยกับเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวติดอายัดตามคำสั่งศาลหรือไม่ ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ติดอายัด โจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินไปการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญา โจทก์ยอมจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 800,000 บาทเศษให้แก่ ว.และพ. ก็เพราะถูกบุคคลทั้งสองฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยและทางศาลประทับฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการจะได้รับความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่และเกียรติยศชื่อเสียงประกอบกับจำเลยรับว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงมีราคารวมกัน1,000,000 บาทเศษ ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าเสียหายอันไกลกว่าเหตุ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายเป็นเหตุให้โจทก์ต้องใช้ค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวแก่ ว.และพ. เป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะจากเจตนาลวงร่วมกัน และสิทธิในทรัพย์สินยังคงเป็นของผู้ซื้อเดิม
ที่ดินและบ้านพิพาทเดิมโจทก์เป็นผู้ซื้อจาก บ. และจำนองไว้กับธนาคาร แม้ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยแต่โจทก์และครอบครัวยังคงอยู่อาศัยในที่พิพาท และเป็นผู้ชำระหนี้จำนองเป็นรายเดือนตลอดมา สาเหตุที่โจทก์ต้องทำนิติกรรมพิพาท เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ไปชำระหนี้อีกทั้งสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทมีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขพิเศษให้โจทก์มีสิทธิซื้อคืนได้ตลอดเวลาแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีความประสงค์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่ซื้อโดยแท้จริง นิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมิได้ซื้อขายกันจริง จึงไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมายนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ กรณีที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยในราคาที่ดินและบ้านพิพาทตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้นำสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยไปได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยใหม่