คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ดูแลทรัพย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องหลังพิทักษ์ทรัพย์: ผู้คัดค้านทวงหนี้จากผู้ดูแลทรัพย์ที่สูญหายไม่ได้ เพราะสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้นหลังศาลมีคำสั่ง
การที่ผู้คัดค้านจะใช้ สิทธิเรียกร้องของจำเลยทวงหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา119ได้นั้นสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต้องมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และแม้มีบุคคลใดที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้คัดค้านในกรณีทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้ยึดไว้สูญหายไปก็เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านต้องติดตามเอาคืนมาหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ต้องรับผิดต่อไปเมื่อสิทธิเรียกร้องที่ผู้ร้องต้องรับผิดเนื่องจากทรัพย์สินที่ยึดสูญหายไปเกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา119เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านได้และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์: บทบาทบุคคลภายนอกร่วมกับผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ ข้อที่ว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์"นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคารยักยอกทรัพย์ของธนาคาร จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เฉพาะวรรคสอง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554-1555/2512 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจร้องทุกข์ของผู้ดูแลทรัพย์ที่ถูกยืมไปและเกิดการยักยอก: ผู้ดูแลมีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้
ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ดูแลทรัพย์พิพาทไว้ จำเลยยืมทรัพย์พิพาทไปจากโจทก์ร่วม เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นเพราะการกระทำผิดยักยอกของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์พิพาท มีอำนาจร้องทุกข์ตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) (ตามนัยฎีกาที่ 1341/2495,420/2505,562/2505) แม้ในฟ้องจะบรรยายคลาดเคลื่อนว่าใครเป็นเจ้าทรัพย์ ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความต่างกับฟ้อง
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยยืมทรัพย์ไป แล้วทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเสีย ย่อมมีความผิดในทางอาญา มิใช่เป็นเพียงเรื่องยืมทางแพ่งเท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า "เมื่อเดือนตุลาคม 2506 และต่อมาประมาณปลายเดือนเมษายน 2507 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันขอยืมเครื่องประดับไปหลายอย่าง (ห้อยคอและกลัดเสื้อรูปดอกไม้แหวนเพชรเม็ดเดียว แหวนเพชรเม็ดเล็กเป็นรูป 4 เหลี่ยมแหวนทับทิมล้อมเพชร กำไลประดับเพชร สร้อยข้อมือนพเก้า จี้เพชรพร้อมสร้อยทองคำขาว แหวนมรกตล้อมเพชร ต่างหูเพชรนาฬิกาข้อมือประดับเพชร) ต้นเดือนมีนาคม 2510 โจทก์ร่วมทั้งสองได้ทวงถามของที่จำเลยยืมไป จำเลยทั้งสี่ปฏิเสธไม่ยอมคืนโดยระหว่างมีนาคม 2510 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกเอาทรัพย์ดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ส่วนตน" เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม
คำแจ้งความที่มีความว่า "จึงได้มาแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสี่ต่อไป" นั้น เป็นการกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความคำร้องทุกข์ไว้ในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันและผู้ร้องทุกข์ได้ลงชื่อไว้แล้ว จึงเป็นการบันทึกคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123วรรคสาม