พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1226/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดอาญา: การกระทำความผิดโดยผู้ป่วยทางจิต และการพิจารณาความสามารถในการรู้ผิดชอบ
จำเลยมีอาการป่วยทางจิตคล้ายเป็นโรคจิตเภทโดยมีอาการระแวง จึงไปรับการรักษาที่คลินิกรวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยบอกแพทย์ที่รักษาว่าหายแล้ว ขอเลิกกินยา แสดงว่าอาการของจำเลยต้องดีขึ้น สามารถพูดจารู้เรื่องแล้ว ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน จำเลยเคยนำอาวุธปืนของกลางออกไปใช้แล้วนำกลับไปคืนที่บ้าน ม. ในวันเกิดเหตุจำเลยงัดกุญแจประตูห้องนอน ม. แล้วนำอาวุธปืนของกลางออกไป โดยก่อนไปยังขอเงินภริยาจำเลยเพื่อเติมน้ำมันแล้วขับรถยนต์ออกไป หลังเกิดเหตุมีการใช้อาวุธปืนยิง ป. ผู้ตาย จำเลยยังสามารถขับรถยนต์หลบหนีกลับบ้านได้ ในชั้นสอบสวนจำเลยพูดจารู้เรื่องสามารถพูดโต้ตอบได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดในขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้างตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดในทางอาญาของผู้ป่วยทางจิต: การพิสูจน์ความสามารถในการรู้ผิดชอบขณะกระทำความผิด
จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตมานานแล้ว จะมีการกำเริบ เป็นครั้งคราวและไม่อาจรู้ได้ล่วงหน้า เมื่อมีอาการทางจิต แล้วจะรู้สึกกลัวและจำอะไรไม่ได้ การที่จำเลยฟันทำร้าย ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ผู้เสียหายทั้งสี่มีเรื่องบาดหมางมาก่อนอันจะเป็นมูลเหตุ ให้จำเลยโกรธเคืองมุ่งร้ายผู้เสียหาย ถือเป็นการผิดปกติวิสัย ที่คนจิตปกติจะมาฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุใด ๆ มาก่อน ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่ สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรกนั้นต้อง พิจารณาถึงผู้กระทำว่ารู้สึกผิดชอบในการกระทำผิดลงในขณะนั้นกับขณะนั้นผู้กระทำสามารถยับยั้งหรือบังคับตนเองได้หรือไม่อันเนื่องจากมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต มิใช่ถือเอาการกระทำของจำเลยภายหลังเกิดเหตุ ที่นำชี้สถานที่เกิดเหตุกับแสดงท่าทาง ในการกระทำผิดมาเป็นเกณฑ์พิจารณาประกอบการกระทำความผิด ที่กระทำก่อนแล้วไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีอาญาของผู้ป่วยทางจิต: ขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
ข้อเท็จจริงหรือเหตุที่ทำให้ศาลเชื่อหรือสงสัยว่าจำเลย เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น อาจเป็นเพราะ ศาลสังเกตเห็นจากอากัปกิริยาของจำเลยเอง หรือมีผู้เสนอ ข้อเท็จจริงให้ศาลทราบก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มิได้พิจารณาคำร้องของธ.น้องจำเลยที่อ้างว่าจำเลยวิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณา และพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ก่อนไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และศาลฎีกามีอำนาจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225 สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
โมฆียะสัญญาซื้อขาย: ผู้ป่วยทางจิต สัญญาตกเป็นโมฆะ แม้รู้สำนึกผิดชอบบางส่วน
จำเลยนอกจากจะให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยยังได้ให้การอีกว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าว จำเลยไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไป การแสดงเจตนาของจำเลยเป็นไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นว่า จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องรวมทั้งมอบหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทโดยถูกโจทก์หลอกลวงอันเป็นเหตุให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตทางอารมณ์และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นผู้มีจิตไม่สมประกอบจนศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โจทก์หลอกลวงจำเลยในขณะที่จำเลยมีสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยจำเลยไม่มีเจตนาที่จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กรณีถือได้ว่าข้อที่ว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าวจำเลยมีสติสัมปชัญญะหรือรู้สำนึกผิดชอบหรือไม่เป็นประเด็นแห่งคดีรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ด้วยทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่กำหนดไว้แต่อย่างใด คงอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลยและจำเลยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อันถือเป็นการยอมรับว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นประเด็นในคดี ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขประเด็นเป็นว่าขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารตามฟ้อง จำเลยสามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปหรือไม่ จึงยังคงอยู่ในประเด็นแห่งคดีและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ โจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการขาดเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้วสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32(เดิม) จำเลยมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 137(เดิม) เมื่อจำเลยได้บอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143(เดิม) แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 วรรคหนึ่ง (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำความผิดลักทรัพย์ของผู้ป่วยทางจิต: การพิจารณาความสามารถในการรู้ผิดชอบ
ก่อนกระทำผิดจำเลยเคยให้นายแพทย์ น. ตรวจร่างกาย 2 ครั้งผลการตรวจปรากฏว่าจำเลยเป็นโรคประสาทหลอนและปวดศีรษะด้านซ้ายมือมีอาการสับสน ถ้ามีการดื่มสุรามากหรือเกิดความเครียดมากอาจไม่รู้สึกตัวประมาณ 12-13 ชั่วโมง ในคืนเกิดเหตุจำเลยดื่มสุราแล้วจำเลยได้ใช้มีดงัดสายยูประตูเข้าไปลักทรัพย์แล้วนำทรัพย์กลับไปบ้านจำเลยชั้นสอบสวนจำเลยให้การได้ละเอียดในการที่จำเลยเข้าไปทำการลักทรัพย์ทั้งสามารถนำชี้ที่เกิดเหตุถึงสิ่งที่จำเลยได้กระทำแล้วแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2522
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางอาญาของผู้ป่วยทางจิต: การประเมินความสามารถในการรู้ผิดชอบและควบคุมตนเอง
จำเลยยิงผู้ตาย จำเลยมีโรคจิต แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลจำคุก 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,65วรรค 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2493
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางอาญาจากการยิงผู้ป่วยทางจิต: การพยายามฆ่า vs ฆ่า, การสมคบคิด
ผู้ตายซึ่งวิกลจริตขึ้นไปบนเรือนจำเลย หญิงซึ่งอยู่บนเรือนคนเดียวเข้าใจว่าเป็นคนร้าย จึงร้องว่าขโมยให้ชาวบ้านช่วย มีชาวบ้าน 30-40 คนรวมทั้งจำเลยมีอาวุธปืน 6-7 กระบอกไล่ตามยิงผู้ตาย ผู้ตายหนีไปแอบจอมปลวก จำเลยกับคนอื่น 2 คนยิงไปยังผู้ตายคนละนัด พอสิ้นเสียงปืนปรากฏว่า ผู้ตายถูกกระสุนปืนล้มลงตาย โดยไม่ปรากฏว่าตายเพราะถูกกระสุนปืนของใคร ดังนี้ ถือว่าจำเลยผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตาย และไม่ถือว่าจำเลยและผู้ที่ยิง ตลอดจนชาวบ้านที่ไล่ติดตามนั้นสมคบกัน