คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้มีสิทธิฟ้องร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและป่าสงวน: ผู้มีสิทธิฟ้องร้องคดีบุกรุก
ส. ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นที่ดินของรัฐสภา ท. ส. จึงมิได้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่ซื้อตามกฎหมาย และต่อมาได้มีการกำหนดให้ที่ดินในท้องที่ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4) กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ และมาตรา 36 ทวิ กำหนดว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มา ตาม พ.ร.บ. นี้หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อให้ใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส. จะมีสิทธิเข้าครอบครองได้ก็แต่โดยการได้รับเอกสารสิทธิจาก ส.ป.ก. เมื่อ ส.ป.ก. ยังมิได้อนุญาตให้ ส. เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งหลังจาก ส. ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์แล้วมิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส. จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอย่างใด โดย ส. เพียงแต่อ้างว่าได้ไถปรับที่ดินไว้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี จึงไปดูที่ดินพบว่าจำเลยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว การที่ ส. เพียงแต่ไถปรับที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ทำประโยชน์อะไรนานเป็นปี ถือไม่ได้ว่า ส. ได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนในขณะที่จำเลยเข้าไปทำประโยชน์ และที่ดินพิพาทยังคงเป็นของ ส.ป.ก. ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุกตามฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้