คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้มีเงินได้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้เลือกหักจากประเภทใดก็ได้ตามกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ผู้มีเงินได้พึงประเมินจึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าควรหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทใด จำนวนเท่าใด ในกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภทเพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีของตน ดังนั้น กรณีที่โจทก์แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือนตามมาตรา 40 (1) โดยมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2534 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีตามมาตรา 49 ต้องตรวจสอบรายได้-รายจ่ายให้ทราบจริงก่อน มิใช่แค่ผู้มีเงินได้ไม่ยื่นหรือยื่นต่ำ
การที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีโจทก์ โดยวิธีการตามมาตรา 49แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถทราบได้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้หรือยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ก็มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามอำนาจพิเศษที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 โดยอนุมัติของอธิบดีกรมสรรพากรได้ทันทีไม่ ดังจะเห็นได้จากตัวบทมาตรา 49 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึง 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีการปกติตามอำนาจในมาตรา 19และ 23 จนไม่อาจทราบได้ว่าผู้มีเงินได้นั้นมีรายได้รายจ่ายที่แท้จริงเพียงใดแล้วจึงชอบที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 49 ได้
เจ้าพนักงานประเมินนำข้อมูลที่ได้จากโจทก์และข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบของตนมาคิดคำนวณหาเงินได้สุทธิของโจทก์ ตามสูตรการหาเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 ที่จำเลยที่ 1ใช้อยู่ แล้วคำนวณหาจำนวนเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระ โดยไม่ปรากฏในรายงานที่จัดทำเสนอขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อใช้วิธีการตามมาตรา 49 กับโจทก์เลยว่าข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบไต่สวนมีทางที่จะทราบรายได้รายจ่ายที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่ เพราะเหตุใด แม้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ปรากฏเพียงว่ามีการนำหลักฐานที่โจทก์นำไปแสดงเพิ่มเติมมาพิจารณาปรับปรุงรายการต่าง ๆ เพื่อให้ถูกต้องตามสูตรการหาเงินได้สุทธิของโจทก์เท่านั้น แสดงว่าเจ้าพนักงานประเมินประสงค์ใช้วิธีการตามมาตรา 49 กับโจทก์มาแต่แรก เนื่องจากเห็นว่าโจทก์แสดงจำนวนเงินปันผลในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่ำและทำการประเมินภาษีโจทก์โดยวิธีการตามมาตรา 49 โดยมิได้คำนึงว่าข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบไต่สวนยังสามารถทราบรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่
การที่โจทก์มิได้แจ้งรายได้จากเงินปันผลที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว และมิได้แจ้งรายได้จากการขายหุ้นที่ไม่ต้องนำมาคิดคำนวณเพื่อเสียภาษี ถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่โจทก์ไม่นำหลักฐานที่เจ้าพนักงานประเมินต้องการมาแสดงหรือหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามหรือข้อสงสัยของเจ้าพนักงานประเมิน กลับปรากฏว่าโจทก์ได้จัดทำบัญชีแหล่งที่มาของเงินได้โดยละเอียดมอบให้เจ้าพนักงานประเมินพร้อมหลักฐานที่แสดงถึงที่มาของเงินได้และไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามนัดถึง 6 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปกปิดแหล่งที่มาของเงินได้และให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบไต่สวนเป็นอย่างดี กรณีของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินยังสามารถทราบได้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2534)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย: จำเป็นต้องตรวจสอบสถานะผู้มีเงินได้ก่อนวินิจฉัย
โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างโดยมิได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ ณ ที่จ่าย แม้โจทก์จะเคยยินยอมชำระภาษี ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3 ของค่าแรงงานที่จ่ายแต่ก็จะต้องให้ได้ความว่า ผู้มีเงินได้ที่รับเงินค่าแรงงานไปจากโจทก์นั้นมีเงินได้อยู่ในเกณฑ์จะต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยอันจะทำให้โจทก์ต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้สำหรับจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากรมาตรา 54 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเสียก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายแห่งคดีได้ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยยังมิได้สืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงข้อนี้อันเป็นสาระสำคัญในประเด็นข้อกฎหมายแห่งคดีศาลฎีกาย่อมเห็นเป็นการสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานและพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนแล้วจึงวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายแห่งคดี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 409/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้กรณีผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการ หรือ ยื่นรายการต่ำกว่าที่ควร และการเรียกเงินเพิ่ม
แม้จะมีคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้ทรัพย์สินกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐ ก็หาเป็นเหตุให้หนี้ค่าภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระระงับลงไม่ กรมสรรพากรโจทก์มีอำนาจกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์แล้วทำการประเมินภาษีเงินได้ กองมรดกต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระภาษีและเงินเพิ่มภาษีภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน มิใช่เป็นการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลย แต่เป็นการทวงถาม หรือเตือนจำเลยให้ชำระหนี้ และกรณีไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 354,355 และ 203 วรรคสองโจทก์ฟ้องจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 โดยไม่จำต้องรอให้ ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับ หนังสือแจ้งการประเมินก่อน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหาว่าเงินฝากในธนาคารต่าง ๆไม่ใช่เงินฝากของจอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิง วิจิตรา จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจะต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่ชอบเสียก่อน แล้วจึงฎีกาต่อไปว่าเงินฝาก ในธนาคารดังกล่าว ไม่ใช่เงินฝากของบุคคลทั้งสอง จำเลยฎีกา เพียงว่าเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ไม่ใช่เงินฝากของบุคคลทั้งสอง จึงไม่ชอบ เพราะไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกา ไม่วินิจฉัยให้
เงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายในการบริจาคการกุศลเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้ เพราะจะต้องมีเงินได้เสียก่อนแล้วจึงจะสามารถนำไปจ่ายได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินนำยอดเงินค่าใช้จ่าย ดังกล่าวไปรวมเข้ากับยอดเงินและมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น แล้วกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิจึงเป็นการชอบ
จำเลยที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งของจอมพลสฤษดิ์ มีหน้าที่แสดงรายการเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของจอมพลสฤษดิ์เสียก่อน