พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้รับเหมาชั้นต้นต่อลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วง: การฟ้องไม่ชัดเจนและฐานะนายจ้าง
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วคำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้างแต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้าง ก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมาย ดังกล่าวให้แจ้งชัด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 และคำให้การของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ และศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้อง มายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดในค่าจ้างลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วง แม้จำเลยขาดนัดศาลก็วินิจฉัยได้จากเอกสาร
ในการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน แม้ในกรณีจำเลยขาดนัดที่ให้ศาลชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวนั้นหากศาลแรงงานเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การคำแถลงของคู่ความ และพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีพอวินิจฉัยได้แล้วศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของ โจทก์หรือจำเลย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 วรรคหนึ่งกำหนดให้ผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างโจทก์ยังไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้น และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าจ้างตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้นายจ้างที่ผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5037/2528
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นกับการรับผิดในค่าจ้าง: ต้องมีฐานะนายจ้างตามกฎหมาย จึงจะรับผิดได้
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 เป็นบทบังคับให้ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้มิได้หมายความว่าผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยและจำเลยให้การว่ามิได้เป็นนายจ้าง ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ หากโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 7 ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงฐานะของจำเลยให้แจ้งชัด ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนั้น เป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องและคำให้การ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7896-8256/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานะผู้รับเหมาชั้นต้นและการร่วมรับผิดในค่าชดเชยกรณีการผลิตตามคำสั่ง
การที่บริษัท น. กำหนดรายชื่อผู้ขายวัตถุดิบและรายชื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่โรงงานของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและรูปแบบการผลิตรองเท้าของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่บริษัท น. สอดแทรกเข้าไปในกระบวนการผลิตรองเท้าตั้งแต่กำหนดตัวผู้จำหน่ายวัตถุดิบ กำหนดตัวผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า จำเลยที่ 2 ไม่มีอิสระในการเลือกซื้อวัตถุดิบและเลือกจ้างผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า จนถึงในกรณีการผลิตไม่ได้คุณภาพหรือรูปแบบตามความประสงค์ของบริษัท น. เจ้าหน้าที่ของบริษัท น. ที่ประจำอยู่ที่โรงงานก็แจ้งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขในส่วนโรงงานผลิตได้อีกด้วย ดังนั้นทุกขั้นตอนการผลิตของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในการควบคุมของบริษัท น. ทั้งนี้ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 ผลิตรองเท้าที่มีคุณภาพวัตถุดิบและคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกับรองเท้าของบริษัท น. ทั่วโลก อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่จำเลยที่ 2 ต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ของบริษัท น. สัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัท น. จึงไม่ใช่สัญญาอันมีวัตถุประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในรองเท้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ตกลงรับผลิตรองเท้าจนสำเร็จประโยชน์ในการให้คุณภาพของรองเท้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตมีมาตรฐานเดียวกับรองเท้าของบริษัท น. ทั่วโลก จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นของบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างผลิตรองเท้าตามความหมายของคำว่า "ผู้รับเหมาชั้นต้น" ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5