คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้สั่งจ่ายเสียชีวิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คผู้สั่งจ่ายเสียชีวิต: ธนาคารไม่ต้องจ่ายเงิน ผู้ทรงเช็คไม่ต้องเรียกเก็บเงินก่อนกำหนด
กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตาย อำนาจและหน้าที่ของธนาคารซึ่งใช้เงินตามเช็คสิ้นสุดลงเมื่อธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตาย ผู้ทรงเช็คจึงไม่ต้องนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารอีก กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าผู้ทรงเช็คจะต้องนำเช็คเรียกเก็บเงินจากธนาคารเสียก่อนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990แม้จะถือว่าการนำเช็คไปยื่นต่อธนาคารก่อนกำหนดวันสั่งจ่ายเงินเป็นการมิชอบ ก็หาทำให้ผู้สลักหลังพ้นความรับผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดวันสั่งจ่ายเช็คหลังผู้สั่งจ่ายเสียชีวิต และความรับผิดของผู้รับอาวัล
การจดวันสั่งจ่าย 'ตามที่ถูกต้องแท้จริง' ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบด้วยมาตรา 989หมายถึงวันที่ผู้ทรงเช็คเห็นสมควรที่จะจดหรือกรอกลงในเช็คซึ่งผู้ทรงมีสิทธิกระทำได้โดยพลการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ใดแจ้งให้จด ส่วนคำว่า'ทำการโดยสุจริต' นั้น กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนทำการโดยสุจริตตาม นัยมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากจำเลยหรือผู้ใดอ้างว่าการจดหรือกรอกวันสั่งจ่ายโดยไม่สุจริตผู้กล่าวอ้างต้องระบุให้ชัดแจ้งถึงเหตุที่ไม่สุจริต และมีหน้าที่นำสืบด้วย
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงจดวันสั่งจ่ายลงในเช็คภายหลังจากทราบว่าผู้สั่งจ่ายถึงแก่ความตายถือได้ว่าโจทก์ทำการโดยสุจริต
ในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังถึงแก่ความตายบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินหรือเช็คยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินหรือเช็คนั้น
กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คถึงแก่ความตาย ผู้ทรงมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากกองมรดกของผู้ตายได้ 2 วิธีคือ1. นำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คถ้าธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตายก็จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามมาตรา 992(2) เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้ทรงเช็คมีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกตลอดจนมีสิทธิฟ้องผู้สลักหลังเช็คด้วย หรือ 2. ผู้ทรงมีสิทธิทวงถามให้ชำระเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกและผู้สลักหลังได้เลยถ้าผู้ถูกทวงถามไม่ชำระเงินตามเช็ค ผู้ทรงก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้โดยไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปยื่นหรือเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามมาตรา 990 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1003/2524)
แม้จำเลยจะได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแต่จำเลยมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อวินิจฉัยถือว่าจำเลยสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้อนี้แล้วและศาลก็ไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้ทรงเช็คเมื่อผู้สั่งจ่ายเสียชีวิต และการโต้แย้งหนี้โดยผู้จัดการมรดก
กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 992 ได้บัญญัติถึงหน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้นว่าเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย เมื่อ ส. ผู้สั่งจ่ายตายโจทก์ในฐานะผู้ทรงซึ่งทราบอำนาจหน้าที่ของธนาคารตามข้อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่จำต้องนำเช็คพิพาทไปขอรับเงินจากธนาคารเสียก่อนกรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 990เมื่อ ส. ตายบรรดาทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ย่อมตกได้แก่ทายาทตามมาตรา1599,1600 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ได้รับการบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินตามเช็คที่ ส. เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์แล้วเพิกเฉยถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้เงินดังกล่าวได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2524)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2522 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คหลังผู้สั่งจ่ายเสียชีวิต: สิทธิผู้ทรงโดยชอบที่จะลงวันที่และเช็คสมบูรณ์
ว. ผู้ตายเป็นลูกหนี้โจทก์ตามเช็คพิพาทซึ่ง ว. เป็นผู้สั่งจ่าย แต่มิได้ลงวันที่ไว้ การที่ ว.ตายไม่ทำให้หนี้สินระงับ เมื่อ ว. ตายลงก็ไม่มีทางที่จะลงวันที่ที่สั่งจ่ายในเช็คได้ การที่โจทก์จัดการลงวัน เดือน ปี ภายหลังที่ ว. ตายแล้ว โจทก์ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคห้า, 989 เช็คฉบับพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย