คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้เช่าถึงแก่กรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเช่าระงับเมื่อผู้เช่าถึงแก่กรรม ทายาทไม่มีสิทธิในสัญญาเช่าเดิม ผู้ให้เช่ามีสิทธิทำสัญญาใหม่ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเป็นทายาทของ อ.เจ้ามรดก ก่อน อ.ถึงแก่กรรมได้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 แล้วมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำประโยชน์โดยโจทก์ทำสวนผลไม้ตลอดมาหลังจาก อ.ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของอ.ตามคำสั่งศาล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปขอเช่าที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่าฉบับพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่โจทก์จะพึงได้รับ ขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าว แต่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 มีข้อความว่าอย่างใดโจทก์มิได้ระบุไว้ให้ชัด เป็นเพียงกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีปฏิเสธว่า การทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำโดยสุจริต มิได้สมคบกันฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนี้ ข้ออ้างของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี
อ.บิดาโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3ถึงแก่กรรม เมื่อสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว และเมื่อผู้เช่าถึงแก่กรรม สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 3 และ อ.ย่อมเป็นอันระงับไป ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิที่จะพิจารณาให้ผู้ใดเช่าที่ดินพิพาทต่อไปก็ได้ ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป เมื่อการเช่าของจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นการขอเช่าส่วนตัวไม่เกี่ยวกับหน้าที่ผู้จัดการมรดกของ อ.ผู้ตาย ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นอยู่ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทของ อ.ที่จะฟ้องบังคับให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลฉ้อฉลในการเช่าที่ดิน: สิทธิการเช่าระงับเมื่อผู้เช่าถึงแก่กรรมและไม่ได้ต่อสัญญา
ซ.เช่าที่ดินจากการรถไฟฯ แล้วปลูกห้องลงบนที่ดินที่เช่า. ซ.ตาย ทายาททำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก. โจทก์ที่ 1 รับมรดก และโจทก์ที่ 2,3 รับโอนทรัพย์มรดกมาจากทายาท.โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ. จำเลยยื่นหนังสือขอโอนสิทธิการเช่าที่ดินต่อการรถไฟฯ. ในนาม ซ. ให้จำเลย. และจำเลยก็ยื่นหนังสือขอรับโอนสิทธิการเช่าที่ดินต่อจาก ซ. ดังนี้. เป็นเรื่องจำเลยใช้อุบายหลอกลวงการรถไฟฯ. ให้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยซึ่งเป็นการแสดงเจตนาอันได้มาเพราะกลฉ้อฉล. ซึ่งเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121. บุคคลที่จะบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะก็คือการรถไฟฯ. ซึ่งเป็นผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริต. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137. ตราบใดที่การรถไฟฯ ยังมิได้บอกล้างนิติกรรมที่ได้ทำขึ้น. ก็ยังถือว่าเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์. โจทก์ในคดีนี้แม้จะฟังว่าเป็นผู้รับมรดกนายซิวก็ตาม. แต่เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าระหว่างการรถไฟฯ กับนายซิวมีอายุการเช่าเพียง 1 ปี. และต้องทำสัญญาเช่าใหม่ทุกปี.หลังจากนายซิวตายแล้วสัญญาเช่าระหว่างการรถไฟฯ.กับนายซิวจึงเป็นอันระงับ. เพราะการตายของนายซิว. และสิ้นกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้. โจทก์มิได้ทำสัญญาเช่าที่ดินต่อการรถไฟฯ. จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในการเช่าที่ดิน. โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลสั่งบังคับให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าที่ดินให้โจทก์. และไม่มีสิทธิจะขอให้ศาลสั่งทำลายเอกสารต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าที่ดิน.