คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้โต้แย้งสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเดิม ผู้โต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ละเมิดได้ แม้คำสั่งคณะกรรมการฯ จะไม่เป็นคุณ
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้จะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้ จดทะเบียนในประเทศไทยก็อาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า อันได้จดทะเบียนไว้แล้วได้หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อประกอบกับ มาตรา 41(1) ที่ให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่แสดงได้ว่าตนมีสิทธิใน เครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ อาจร้องขอให้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ โจทก์ซึ่งอ้างตนว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยทั้งสอง จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองได้
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้กล่าวอ้างถึงการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาลตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับในภายหลัง แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลในการกระทำของจำเลยทั้งสองที่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การไม่ชัดเจน ศาลถือว่ารับข้อเท็จจริงตามฟ้อง และหนังสือมอบอำนาจครอบคลุมการฟ้องคดีกับผู้โต้แย้งสิทธิ
คำให้การของจำเลยที่มีข้อความเพียงว่า จ. ได้มอบอำนาจให้อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรองเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องทำไว้นานแล้ว ในช่องผู้ลงชื่อมอบอำนาจจะใช่ลายมือชื่อ จ. ที่แท้จริงหรือไม่ และปัจจุบัน จ. ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์หรือไม่จำเลยไม่ทราบ และไม่ขอรับรอง เนื่องจากหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องเจ้าหน้าที่รับรองไว้นานแล้ว เป็นคำให้การที่ไม่ได้ความแจ้งชัดว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ทำให้เกิดประเด็น ถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงในข้อนั้นตามฟ้องแล้ว หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความระบุว่า เรียกร้องทวงถามให้ชำระหนี้ แจ้งการบังคับจำนองหรือจำนำ ดำเนินคดีฟ้องร้องแก้ต่างทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา เป็นการมอบอำนาจที่ผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยกระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องจำเลยแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจโดย ไม่จำต้องระบุชื่อผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ