พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตกลงผ่อนผันชำระหนี้เช่าซื้อมีผลต่อการถือเอาเวลาชำระเป็นสาระสำคัญ และผลของการเลิกสัญญากันโดยปริยาย
หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนผันชำระเงินและได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามข้อตกลงรวม 4 งวด หลังจากนั้นไม่ชำระ โจทก์จึงยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนพฤติการณ์แสดงว่าทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป และการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงกันตามหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินจึงเป็นการตกลงเลิกข้อตกลงเดิม ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาเช่าซื้อต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลาในหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินโดยชำระเงินขาดในเดือนที่ 3 พฤิตการณ์ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือกำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเดิมเป็นสาระสำคัญเช่นกัน จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ โจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาอันสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่การที่พนักงานของโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ให้ ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนคู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามมาตรา391 วรรคสาม ส่วนที่จำเลยต้องใช้ราคารถยนต์ที่ยังขาดเมื่อโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปนั้นมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 327/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากล่าช้าในการแบ่งแยกโฉนด ทำให้โจทก์มีสิทธิผ่อนผันชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือในวันโอนกรรมสิทธิ์
จำเลยยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่แบ่งแยกโฉนด ล่าช้ากว่ากำหนดตามที่โจทก์นำสืบมิใช่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันดัง ที่จำเลยนำสืบ และการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อหาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4447/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม เนื่องจากเป็นการโต้เถียงดุลพินิจศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการขอผ่อนผันชำระค่าปรับเป็นอำนาจศาลชั้นต้น
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง โดยปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว จำนวน 2,743,672 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,371,836 บาท ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษปรับนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอผ่อนชำระค่าปรับนั้น เห็นว่า การบังคับชำระค่าปรับเป็นกระบวนการในการบังคับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยยังมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะฎีกาในเรื่องนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย