คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พระราชบัญญัติจัดที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9154-9155/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมซื้อขายที่ดินช่วงห้ามโอนเป็นโมฆะ แม้ทำสัญญาหลังพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว
พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511มีเจตนารมณ์ให้รัฐบาลจัดที่ดินของรัฐให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้นการที่มีบทบัญญัติห้ามโอนที่ดินแก่ผู้อื่นเว้นแต่การตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ผู้รับที่ดินเป็นสมาชิกอยู่และกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็เพื่อให้ผู้ได้รับที่ดินใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ตามเจตนารมณ์ดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียที่ดินไปโดยง่ายหรือมีการจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ผิดจากเจตนารมณ์ดังกล่าวดังนั้นการที่โจทก์ตกลงขายที่ดินให้จำเลยเพื่อหักหนี้และมอบที่ดินให้จำเลยซึ่งได้กระทำกันภายในระยะเวลาซึ่งยังอยู่ในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีเจตนาจะโอนที่ดินกันและก่อสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อไปแม้จะกำหนดให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันภายหลังพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตามก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายเป็นนิติกรรมอันมีวัตถุที่มีประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(เดิม)จำเลยจะยกนิติกรรมอันเป็นโมฆะดังกล่าวนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้กู้ยืมจากโจทก์และไม่ออกจากที่ดินของโจทก์ไม่ได้ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินนิคมสร้างตนเองต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ การซื้อขายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขไม่มีผล
ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำตะคองอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ พ. จะครอบครองอยู่ ก็ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่จะโอนสิทธิไปให้แก่ผู้ใดเมื่อมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้น ผู้ใดจะได้สิทธิในที่ดินต้องตกอยู่ในเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทมาก่อนเลย โดยมี พ. เป็นผู้ครอบครองอยู่ ทั้งเมื่อมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นแล้วโจทก์ก็มิได้เป็นผู้ครอบครองและขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แต่พ. เป็นผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับโอนขายที่ดินมาจาก พ.ตั้งแต่ก่อนที่พ. จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แต่เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามเงื่อนไขและวิธีการของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิในที่พิพาทและถือว่าการโอนขายที่ดินระหว่าง พ. กับโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งครอบครองที่พิพาทอยู่และเป็นสมาชิกของนิคมให้ออกจากที่พิพาทได้